xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เตือนโจ๋ป่วนเล่นดอกไม้ไฟสร้างความรำคาญ ระวังติดคุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สธ.เตือนโจ๋ที่คึกคะนองเล่นดอกไม้ไฟป่วนเมือง ระวังมีโทษตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 ในการควบคุมเหตุรำคาญและกิจการดอกไม้เพลิง จำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000 บาท

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงโทษของการเล่นดอกไม้ไฟสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น เนื่องในเทศกาลลอยกระทงว่า แม้ปีที่ผ่านมาหลายหน่วยงานจะมีมาตรการควบคุมการเล่นดอกไม้ไฟออกมาบังคับใช้แต่ก็ยังมีข่าวการได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแทบทุกปี เพราะยังมีประชาชนบางกลุ่มที่เล่นดอกไม้ไฟอย่างไม่ระมัดระวัง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่คึกคะนองรู้เท่าไม่ถึงการณ์ต่ออันตรายของดอกไม้ไฟ ซึ่งเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เสียชีวิต และความเสียหายต่อทรัพย์สิน ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ในการควบคุมเหตุรำคาญจากการเล่นดอกไม้เพลิงและกิจการการผลิต การสะสม การขนส่งดอกไม้เพลิง ปัจจุบันเป็นอำนาจของท้องถิ่นในการควบคุม กำกับ ดูแลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข โดยมีรายละเอียดคือ 1.การควบคุมดูแลประชาชนหรือผู้เล่นดอกไม้เพลิง ท้องถิ่นสามารถออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนในการเล่นดอกไม้เพลิงอย่างปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน กรณีท้องถิ่นใดมีการจัดประเพณีลอยกระทง สามารถจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับการเล่นดอกไม้เพลิงได้ ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล และมีระบบความปลอดภัยควบคุมเหตุที่อาจเกิดขึ้นไว้ด้วย

2.การใช้อำนาจตามกฎหมายสาธารณสุขควบคุมเหตุรำคาญและควบคุมกำกับ กิจการการผลิต การสะสม การขนส่งดอกไม้เพลิง และหากกรณีท้องถิ่นพบว่าการกระทำที่เกิดจากการเล่นดอกไม้เพลิงนั้นอาจก่อให้เกิดหรือเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ ตามมาตรา 25 เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถใช้อำนาจ ตามมาตรา 27 และ28 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ออกคำสั่งเพื่อระงับหรือป้องกันเหตุรำคาญนั้นตามสมควรได้ ในกรณีที่ผู้ก่อเหตุรำคาญไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น จะมีระวางโทษตามมาตรา 74 จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น พบเห็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าก็สามารถจับกุมได้ สำหรับผู้ประกอบกิจการที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของท้องถิ่นหรือการกระทำนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถออกคำสั่งให้หยุดดำเนินการนั้นได้ และหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่กิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และสามารถปรับได้ไม่เกินวันละ 5,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง

ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า การเล่นดอกไม่ไฟโดยไม่ระวังนอกจากจะทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแล้ว ผู้ที่เล่นดอกไม้ไฟเองก็สามารถได้รับอันตรายจากสารเคมี และการบาดเจ็บจนถึงขั้นเสียชีวิตเช่นเดียวกัน หากมีการสัมผัสสารเคมีที่มีส่วนผสมในดอกไม้เพลิง หรือสูดดมสารเคมีที่อยู่ในรูปของเหลว ผง ไอระเหย และควันพิษเข้าสู่ร่างกาย ก่อให้เกิดอันตรายตามแต่ชนิดของสารเคมี เช่น สารประกอบแบเรียม ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองหู ตา คอ จมูก และผิวหนัง เกิดโรคลำไส้อักเสบ กล้ามเนื้อเกร็ง ชีพจรเต้นช้า สารตะกั่วและทองแดงทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เกิดแผลที่โพรงจมูกได้ และดอกไม้ไฟที่มีเสียงดังมากๆ จะส่งผลกระทบต่อการได้ยิน เพราะเกือบทุกชนิดก่อให้เกิดเสียงดังมีระดับเสียงกระแทกสูงกว่า 130 เดซิเบล เอ ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้คือ 85 เดซิเบล เอ จะทำให้เกิดอาการหูตึงชั่วคราว ถ้าได้รับในช่วงเวลานานจะทำให้หูตึงถาวรได้ สำหรับไฟเย็นจะมีความร้อนที่อุณหภูมิ 649-983 องศาเซลเซียส สามารถทำให้ผิวหนังไหม้หรือตาบอดได้

“หากประชาชนต้องการเล่นดอกไม้ไฟต้องระมัดระวังและเล่นให้ถูกวิธี โดยไม่จุดดอกไม้ไฟใกล้วัตถุไวไฟ ในที่ที่มีคนหนาแน่น หรือสถานที่มีลมพัดแรง ไม่ถือดอกไม้ไฟไว้ในมือหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายในขณะที่ไฟติด โดยจุดไฟให้ห่างจากบริเวณใบหน้า เส้นผม และเสื้อผ้า ไม่โยนดอกไม้ไฟใส่ในกลุ่มคนหรือผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ขณะเล่นดอกไม้ไฟ ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันสายตา และหลีกเลี่ยงการเก็บดอกไม้ไฟไว้ในกระเป๋าเสื้อ หรือกางเกง เพราะอาจเกิดการเสียดสีและเกิดประกายไฟได้ ห้ามเด็กเล่นดอกไม้ไฟและจุดไฟคนเดียวโดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล สำหรับสถานประกอบการให้ระมัดระวังการเสียดสี หรือเกิดความร้อนสูงกับวัสดุที่ห่อหุ้มดอกไม้ไฟ ไม่ควรเก็บผลิตภัณฑ์ดอกไม้ไฟไว้เป็นจำนวนมาก เพราะอาจทำให้เกิดการระเบิดขึ้นได้ ควรแยกเก็บสารเคมีที่ยังไม่ใช้ออกจาก

กระบวนการผลิต และแบ่งมาใช้แต่พอดี และสารต่างชนิดกันไม่ควรเก็บไว้ในที่เดียวกันเพราะอาจทำให้เกิดการระเบิดขึ้นได้ ห้ามสูบบุหรี่หรือมีแหล่งประกายไฟหรือแหล่งความร้อนที่เป็นสาเหตุของการระเบิดและการติดไฟบริเวณที่ผลิตดอกไม้ไฟ ส่วนร้านค้าปลีกไม่ควรขายดอกไม้ไฟให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และเก็บรักษาดอกไม้ไฟไว้ในบรรจุภัณฑ์ที่สมบูรณ์และแห้งสนิท ไม่เก็บใกล้แหล่งที่มีความร้อน แหล่งกำเนิดประกายไฟ วัสดุเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และมีการจำกัดเขตบุคคลภายนอกในการเข้าถึงบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งควรปกปิดมิดชิดป้องกันการเข้าถึงของเด็กและสัตว์เลี้ยงอีกด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น