ผลศึกษาย้ำชัดดื่ม “ชารางจืด” ช่วยลดปริมาณสารพิษในเลือดได้จริง หลังตรวจหาปริมาณสารพิษในเลือดเกษตรกรก่อนและหลังทดลอง พบลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
นางสุวารี ศรีแสง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รพ.สต.คำขวาง จ.อุบลราชธานี นำเสนอผลงานวิชาการเรื่อง “ประสิทธิผลของชารางจืดกลิ่นใบเตยต่อการลดระดับสารเคมีในเลือดของเกษตรกร ต.คำขวาง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี” ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2556 ว่า เกษตรกรในพื้นที่มีปริมาณสารเคมีตกค้างในระดับไม่ปลอดภัยร้อยละ 39.84 โดยเกษตรกรได้นำสมุนไพรรางจืด และใบเตยหอมมาชงเพื่อขับพิษ แต่เนื่องจากยังไม่มีการทดสอบทางวิชาการ การวิจัยครั้งนี้จึงทำเพื่อศึกษาประสิทธิผลของชารางจืดต่อการลดระดับสารเคมีในเลือด ทั้งนี้ การศึกษาได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างเพื่อวัดผลก่อนและหลังในเกษตรกรที่มีระดับสารเคมีตกค้างไม่ปลอดภัยจำนวน 60 คน ด้วยการเก็บข้อมูลและตรวจวัดระดับสารเคมีในเลือดก่อนและหลังทดลอง โดยการดื่มชารางจืด เช้า-เย็น ครั้งละ 1 แก้ว ติดต่อกัน 30 วัน
นางสุวารี กล่าวต่อว่า ผลการศึกษาพบว่า การดื่มชารางจืดกลิ่นใบเตยเป็นระยะเวลา 30 วัน เมื่อตรวจหาระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส พบว่า อยู่ในระดับที่ปกติและปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 93.33 และยังได้ทำการทดสอบความแตกต่างผลการตรวจโคลีน พบว่าก่อนและหลังทดลองมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสามารถสรุปผลการทดลองได้ว่า ชารางจืดกลิ่นใบเตยนั้น มีประสิทธิผลต่อการลดระดับสารเคมีในเลือดได้จริง โดยการควบคุมวิธีการผลิต และกำกับการดื่มอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่จำเป็น รวมทั้งต้องทำควบคู่กับการสร้างความตระหนักถึงอันตรายที่จะได้รับจากสารเคมี รวมทั้งควรส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนเพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมีลง