xs
xsm
sm
md
lg

ไทยพร้อมรับมือภัยพิบัติหรือยัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุกัญญา แสงงาม
หากเกาะติดสถานการณ์ข่าวอย่างใกล้ชิดจะพบว่า ทั่วโลกเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ พายุถล่ม น้ำท่วมใหญ่ แล้วดูเหมือนภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งจะทวีความรุนแรงและเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนภัยพิบัติเกิดขึ้นที่ไหน ย่อมสร้างความพินาศเสียหายอย่างมหาศาล ทั้งทรัพย์สิน คร่าชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แล้วจะทำอย่างไรให้ประชาชนสูญเสียน้อยที่สุด มีชีวิตรอด ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ของแต่ละประเทศว่าจะติดจรวดความรู้การเอาตัวรอดให้แก่ประชาชนกันอย่างไร   กระทรวงสาธารณสุข นับเป็นหน่วยงานหนึ่งจะต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติ นำโดย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหาร เดินทางไปศึกษาดูงานประเทศญี่ปุ่น ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเดินทางไปดูระบบการจัดการของโรงพยาบาลกาชาดสากล เมืองอิชิโนมะกิ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่รองรับผู้ประสบภัยจาเกิดการสึนามิ ปี 2554 และศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยพิบัติสถานีฝึกการเตรียมความพร้อมด้านภัยพิบัติ ให้ประชาชนที่อาศัยในกรุงโตเกียว
นายยามาซากิ จูนิชิ ผู้จัดการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยพิบัติสถานีฝึกการเตรียมความพร้อมด้านภัยพิบัติ ให้ประชาชนที่อาศัยในกรุงโตเกียว บอกว่า หากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้น เราจะสอนให้ประชาชนหาทางเอาตัวรอดภายใน 72 ชั่วโมงให้ได้ เพราะถ้าเกินจากนี้โอกาสรอดชีวิตจะลดน้อยลง ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะจำลองสถานการณ์แผ่นดินไหว เพื่อให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยเข้ามาศึกษาหาความรู้ในการเอาตัวรอดฟรี โดยให้ผู้เข้าอบรมตอบคำถามผ่านเครื่องเล่นเกมแบบพกพา หากตอบถูกโอกาสรอดชีวิตสูง ถ้าตอบผิดมีโอกาสเสียชีวิตมากเช่นกัน นอกจากตอบคำถามผ่านเกมแล้ว ยังได้จำลองเหตุการณ์ภัยพิบัติเพื่อให้ผู้เข้าอบรมเอาชีวิตรอด เช่น ขณะอยู่ขึ้นลิฟต์ บนตึกสูง ฯลฯ ยกตัวอย่างอยู่บนตึกสูงจะต้องรีบมาตามสัญลักษณ์ทางออก เมื่อมาถึงจะมีอุโมงค์ให้เอาตัวไหลลงมาสู่พื้นที่ราบหรือจุดที่ปลอดภัย จากนั้นจะต้องรีบไปยังสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ ซึ่งจะมีทั้งเครื่องอุปโภค บริโภค รองรับผู้ประสบภัย
แน่นอนเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้น ย่อมมีผู้ได้รับบาดเจ็บ รัฐบาลได้มีการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ โดยจะมีทีมแพทย์ฉุกเฉินอยู่ในโรงพยาบาลพร้อมช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทันที ซึ่งเบื้องต้นจะมีทีมแพทย์ พยาบาล คอยคัดกรองคนเจ็บ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มผู้ที่ได้บาดเจ็บเล็กน้อย กลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บปานกลาง และกลุ่มที่บาดเจ็บมากต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เมื่อผ่านการคัดกรองเสร็จเรียบร้อยแล้วคนเจ็บจะได้รับการรักษาตามความเร่งด่วนของการได้รับบาดเจ็บ ถ้าได้รับบาดเจ็บมากต้องได้รับการรักษาก่อน 
ในประเทศญี่ปุ่น ทุกโรงพยาบาลจะมีการฝึกอบรมทีมแพทย์ฉุกเฉินทุกสัปดาห์ ให้กับแพทย์ พยาบาล หากมีภัยพิบัติเกิดขึ้น โรงพยาบาลจะปรับพื้นที่เพื่อรองรับผู้บาดเจ็บ ขณะเดียวกันแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมปฏิบัติงานช่วยกู้ชีวิตคนทันที ขณะที่รัฐบาลจะมีหน่วยงานเตรียมอาหาร น้ำ เต้นที่พัก สุขา และอื่นๆ ซึ่งทุกอย่างจะเน้นเรื่องความสะอาดเป็นหลัก โดยเฉพาะขั้นตอนการปรุงอาหาร และสุขา เพื่อป้องกันโรคระบาด
ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการดูงานครั้งนี้ต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นเขาจัดระบบการดูแลประชาชนขณะเกิดภัยพิบัติเป็นอย่างดี แล้วมีการเตรียมความพร้อมให้แก่ประชาชนรู้จักเอาตัวรอด ก่อนที่รัฐจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งเมืองไทย ยังขาดตรงจุดนี้ เพราะฉะนั้นในอนาคตควรมีการจัดหลักสูตร หรือจัดการอบรมความรู้ประชาชนให้รู้จักเอาตัวรอด อย่างปลอดภัย พร้อมกันนี้จะต้องเตรียมความพร้อมทีมแพทย์ฉุกเฉินด้วย
ย้อนถึงเหตุการณ์มหาอุทกภัย ปี 2554 คนไทยจำนวนมากต้องสูญเสียทรัพย์สิน และบุคคลอันเป็นที่รักไป เพราะจมน้ำ หรือถูกไฟฟ้าช็อต ถ้าวันนั้นรัฐบาลให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้า ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพราะถูกไฟฟ้าช็อตคงไม่มี ซึ่งเหตุการณ์อย่างนี้สามารถป้องกันได้ เพียงแค่ประชาชนมีความรู้ อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวอีก แล้วแนวโน้มที่ประเทศไทยจะเกิดน้ำท่วมเพิ่มขึ้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐควรให้ความรู้แก่ประชาชน ที่สำคัญจัดระบบการช่วยเหลือไว้เสียแต่เนิ่นๆ ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น