ยอดเด็กไทยติดเกม-เล่นออนไลน์ปี 56 เกือบ 3 ล้านคน แพทย์ชี้มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ทำร้ายพ่อแม่ ฆ่าตัวตาย เด็กเข้าบำบัดแค่ 30-40 คนต่อปี เผยพบมนุษย์เผ่าใหม่ “ชนเผ่าหัวก้ม” ก้มดูแต่มือถือตัวเอง ไม่มองหน้ากัน ไอทีเหมือนเป็นอวัยวะที่ 33
วันนี้ (14 ต.ค.)นายสุระ เตชะทัต ที่ปรึกษา รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานเปิดตัวโครงการ “เด็กไทยกับไอที” และงาน Thailand Game Show BIG Festival ที่จะจัดวันที่ 18-20 ต.ค.ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดย นายสุระ กล่าวว่า เรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารแพร่หลายมากขึ้น มีทั้งด้านดีและไม่ดี แต่ปัญหาด้านไม่ดีมีความรุนแรงมากกว่า และเป็นบ่อเกิดปัญหาสังคม อาชญากรรม จี้ปล้น ยาเสพติด ครอบครัวแตกแยก ปัญหาทางเพศ
นายปรีชา กันธิยะ ปลัด วธ.กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นโลกของไอที ทุกคนเข้าถึงสื่อได้ง่าย ทำอย่างไรเด็กจะได้เข้าถึงสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ผ่านมา วธ.ดูแลเรื่องเฝ้าระวัง ต่อไปต้องสร้างวัคซีนคุ้มกันเด็กและเยาวชน ผลิตสื่อที่ดีช่วยเหลือคุณภาพชีวิต ส่วนการแก้ปัญหานั้นตนเห็นว่าต้องเริ่มจากฟังเสียงเด็กและเยาวชนก่อน งาน “เด็กไทยกับไอที” ครั้งนี้ผู้ใหญ่จะได้ฟังเด็ก
ด้าน รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า จากการจัดทำแบบสำรวจที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต เก็บข้อมูลเด็กและเยาวชน 20,000 คนทั่วประเทศ ระหว่างเดือน มี.ค.-มิ.ย.2556 พบว่า ในจำนวนนี้พบเด็กติดเกม 15% เล่นออนไลน์ ไลน์ เฟซบุ๊ก 15% และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับสถิติจำนวนเยาวชนในปัจจุบันมีจำนวน 18 ล้านคน ทำให้ทราบว่า มีเด็กไทยติดเกมกว่า 2,700,000 คน ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยพฤติกรรมของเด็กที่ติดเกม คือ 1.จะมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง จนถึงขั้นทำร้ายพ่อแม่ผู้ปกครองพยามฆ่าตัวตายเมื่อถูกห้ามไม่ให้เล่นเกม 2.หนีเรียน เก็บตัวอยู่บ้านเพื่อเล่นเกม ไม่นอนในเวลากลางคืน 3.มีปัญหาการเรียนตกต่ำ ไม่เข้าร่วมกิจกรรม อารมณ์แปรปรวนง่าย ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ถือว่าเข้าข่ายติดเกมรุนแรงต้องเข้าบำบัดรักษา ปัจจุบันเด็กที่จะเข้ามารักษามีจำนวนน้อยมาก เฉลี่ยปีละ 30-40 คนเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมวัฒนธรรมก้มหน้า คนไม่มองหน้ากัน มองแต่จอมือถือตัวเอง พบเห็นได้ตามท้องถนน ที่สาธารณะ หรือเรียกว่า ชนเผ่าหัวก้ม เป็นอาการอย่างหนึ่งชีวิตเราผูกพันไอทีมากเกินไป เหมือนเป็นอวัยวะที่ 33