xs
xsm
sm
md
lg

“อมร” โวอุโมงค์ยักษ์ประสิทธิภาพเยี่ยม ทำงานเต็มกำลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กทม.โชว์ประสิทธิภาพอุโมงค์ยักษ์ “อมร” โวทำงานเต็มระบบ เต็มกำลัง ย้ำ สนน.ร่วมสำนักงานเขตและหน่วยเบสท์ สูบน้ำท่วมขังผิวจราจรและจุดอ่อนต่างๆ ลงคลองโดยเร็ว ยอมรับหากน้ำเหนือมามากอาจต้านไม่อยู่ พร้อมยัน กทม.ต้องการอุโมงค์ยักษ์ครบ 6 จุด เพื่อประสิทธิภาพระบายน้ำที่ดี

วันนี้ (25 ก.ย.) ที่บริเวณบึงพระราม 9 เขตห้วยขวาง นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว บริเวณบึงพระราม 9 ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว ไปสู่คลองพระโขนง และระบายออกแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอุโมงค์ดังกล่าวมีความยาว 5-6 กิโลเมตร มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร โดยมีศักยภาพการระบายน้ำ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สามารถช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ได้แก่ บางกะปิ ลาดพร้าว วังทองหลาง บึงกุ่ม ห้วยขวาง สะพานสูง และพื้นที่ใกล้เคียงครอบคลุม 50 ตารางกิโลเมตร

นายอมร กล่าวว่า ขณะนี้อุโมงค์ยักษ์เดินเครื่องเต็มกำลังทั้ง 4 เครื่อง และตนได้สั่งสำนักระบายน้ำ (สนน.) ให้ร่วมกับสำนักงานเขตและหน่วยเบสท์ ทำหน้าที่เร่งสูบน้ำที่ท่วมขังบนผิวจราจรและจุดอ่อนต่างๆ ลงสู่คลองให้เร็วที่สุด มีเพียงบางจุดที่ต้องใช้เวลาในการระบายน้ำนาน เช่น หมู่บ้านกรุงเทพกรีฑา ทั้งนี้ กทม.ได้เร่งระบายน้ำเหนือเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งส่วนสำคัญที่ช่วยในการระบายน้ำ คืออุโมงค์ยักษ์ดังกล่าว พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้ สนน.ควบคุมการระบายน้ำ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยเร็วที่สุด

นายอมร กล่าวต่อไปว่า กทม.ยังกังวลในเรื่องของมวลน้ำเหนือขนาดใหญ่ที่จะไหลผ่านมายังพื้นที่กรุงเทพฯ อีก 500 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งอาจจะทำให้ปริมาณน้ำเหนือที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยามีเกิน 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที อาจจะเกินขีดความสามารถของ กทม.ที่จะรับมือได้ ทั้งนี้ กทม.พยายามอย่างเต็มที่ในการระบายน้ำเหนือ แต่ก็ต้องขอให้รัฐบาลเห็นใจด้วย เนื่องจากกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงหากเกิดน้ำท่วมก็จะเกิดผลกระทบไม่เพียงแต่ความเดือดร้อนของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงภาคเศรษฐกิจโดยร่วมของประเทศด้วย ส่วนการคาดการณ์ปริมาณฝนตกในช่วงนี้มีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้น เพราะกรุงเทพฯยังอยู่ในร่องความกดอากาศต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกจนถึงสิ้นเดือน ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม กทม.ยังต้องการอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ให้ครบทั้ง 6 แห่งให้มีความครอบคลุมพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ















กำลังโหลดความคิดเห็น