xs
xsm
sm
md
lg

แผนกินรวบระบบสุขภาพ การเมืองรวมหัว ขรก.ปรับโครงสร้างเขตสุขภาพยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...ดวงจำปา

เป็นที่ทราบกันว่า มีความพยายามในการกินรวบระบบสุขภาพที่ทศวรรษที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ลดบทบาทลงไปอย่างมาก เหตุเพราะความตื่นตัวของภาคส่วนอื่นในการลุกขึ้นมาจัดการกับเรื่องสุขภาพด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องของคนทุกคน

อีกทั้งมีการแยกตัวออกไปของหน่วยงานอิสระ ประเภทตระกูล ส.ทั้งหลาย ก็ยิ่งเป็นมูลเหตุให้ผู้มีอำนาจในกระทรวงสาธารณสุขไม่ว่ายุคใดต้องอึดอัด และรู้สึกเสียศักดิ์ศรีมาโดยตลอด และยิ่งอึดอัดคับข้องใจมากขึ้น หากองค์กร ส.ทั้งหลาย สามารถสร้างผลงานได้ วัดว่าอึดอัดขัดใจแค่ไหน ก็จนกระทั่งปลัด สธ.พูดในงานประชุมวิชาการที่ขอนแก่นว่า การลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน เป็นหน้าที่ของรัฐบาล และ สธ.คือรัฐบาล ดังนั้น สธ.ต้องทำเรื่องนี้ไม่ใช่ให้องค์กรอื่นทำ ประโยคนี้ทำให้คิดต่อไปได้ว่า มีแต่ สธ.เท่านั้นที่เป็นหน่วยงานรัฐ ส.อื่นๆไม่ใช่ นั่นเป็นพวกนอกคอก (ฮา)

มาถึงยุคนี้ที่กระทรวงหมอมีนักหมอนักธุรกิจเข้ามาเป็นเจ้ากระทรวงที่ภาพภายนอกคล้ายมุ่งปฏิรูประบบสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และดูจะเอาจริงเอาจัง..แต่ตั้งแต่เข้ามาก็ยังไม่เห็นผลงานใดๆ ที่เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนจริงหรือมีผลประโยชน์ใดแอบแฝงอยู่หรือไม่.มีหลายข้อหา ที่แก้ตัวแล้วคนฟังก็งงๆ รวมทั้งประเด็นการตั้งรองเลขาฯ สปสช.ที่ รมว.สธ.และเลขาฯ สปสช.ทั้งยืนยัน นั่งยัน ว่าไม่แทรกแซง...ไม่แทรกแซง เป็นเรื่องภายใน...แต่ไม่มีใครเชื่อ..และเวลานี้ตำแหน่งรองเลขาฯสปสช.ที่ว่านี้ก็กำลังพ่นพิษไปทั่วองค์กรและเสียหายลามไปถึงการเมือง

อีกหลายเรื่อง เช่น P4P ที่แพทย์ชนบทออกมาต่อต้านอย่างหนัก.....รวมทั้งเรื่องที่กำลังสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ผู้บริหาร สธ.ทุกระดับคือการสั่งให้มีการบรรจุพนักงานราชการที่กำลังเดี๋ยวเร่งเดี๋ยวเบรก ก็สร้างแรงกระเพื่อมให้กับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเอง หากผลีผลามอาจถึงขั้น “เจ๊ง” ได้ เพราะรายจ่ายเพิ่มขึ้นมหาศาลขณะที่รายได้กลับจำกัด หาช่องทางเพิ่มไม่ง่าย เลยไม่รู้ว่าเจ้ากระทรวง สธ.ที่เป็นนักธุรกิจมือทอง ท่านหวังดีให้โรงพยาบาลรัฐปรับปรุงตัวเพิ่มประสิทธิภาพหรือประสงค์ร้ายให้โรงพยาบาลเอกชนมีโอกาสเพิ่ม “มาร์เก็ต แชร์กันแน่”

ท่ามกลางแรงกดดันที่ รมว.สธ.กระแทกลงบนปลัด สธ.ที่เลือกมากับมือ จนปลัดเมาหมัดชกสะเปะสะปะออกทะเลเป็นที่น่าหนักใจว่าจะสร้างผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันจารึกไว้ให้คนข้างหลังชื่นชมได้ เพราะตั้งแต่ได้เก้าอี้สูงสุดของฝ่ายประจำมา..ผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันยังไม่เกิด ที่เกิดก็คือศึกทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะฟัดกับสปสช.ชนิดตายกันไปข้าง..นี่คงเป็นแผลใจที่ยังคงริ้วรอยลบไม่ออกตั้งแต่สมัยเป็นผู้ตรวจแถวภาคใต้ที่ถูกท้าทายอำนาจ (ที่ตนเองอยากใช้เต็มที่) ที่จริงถ้าเป็นมวย ลดทิฐิในอดีตลงบ้าง งานก็จะเดินหน้ามากกว่านี้

มาถึงไฮไลต์สำคัญที่น่าจะไม่ตรงไปตรงมา และจะเป็นผลงาน “ชิ้นโบดำ” ของ รมว.และปลัด สธ.(หากเสร็จสมอารมณ์หมายอย่างที่วางหมากไว้) คือ เรื่อง “เขตสุขภาพ” ที่กระทรวงสาธารณสุข โดยปลัดได้กางพิมพ์เขียวประกาศไปทั่วทั้งในกระทรวงและนอกกระทรวง ทุกที่ ที่มีโอกาส ว่า จะมอบอำนาจให้ผู้ตรวจฯเป็นซีอีโอ บริหารพ่วงบริการแบบ “เขตสุขภาพ” โดยมี “คณะกรรมการเขตสุขภาพ” หรือ “Area Health Board” อันมี 1.คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตของ สปสช.ที่เรียกย่อๆ ว่า “อปสข.” ไปอยู่ในโครงสร้างนี้...ร่วมกับ โครงสร้างใหม่อีกสองส่วนที่ สธ.อ้างว่าปฏิรูปโดยแยกผู้ตรวจราชการและสาธารณสุขนิเทศก์ ออกจากกัน เป็น สองโครงสร้าง คือ 1.“provider board” หรือบอร์ดฝ่ายผู้ให้บริการที่ผู้ตรวจเป็นหัวหน้า 2.อีกส่วนคือ “Regulator board” หรือบอร์ดฝ่ายผู้กำกับควบคุมที่สาธารณสุขนิเทศก์นั่งหัวโต๊ะ เอาเป็นว่า Area Health Board ประกอบด้วย สามส่วนที่ว่า แต่ 2 ใน 3 เป็นของ สธ.แม้จะอ้างว่ามีการแยกบทบาทกันอย่างชัดเจนไม่ขึ้นต่อกัน แต่ในความเป็นจริง ตำแหน่งสาธารณสุขนิเทศก์ก็ต่ำกว่าผู้ตรวจ และทั้งสองคนก็สังกัดกระทรวงสาธารณสุขเช่นกันย่อมต้องร่วมมือกัน นอกจากนั้น โครงสร้างคณะกรรมการเขตสุขภาพและสำนักงานเขตสุขภาพก็ยังกำหนดให้อยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่คุมโรงพยาบาลของรัฐเป็นส่วนใหญ่ ก็ยิ่งทำให้โครงสร้างใหม่นี้ขาดความเป็นกลางและมีความขัดแย้งกันทางผลประโยชน์

แน่นอนว่าเรื่องนี้ ฝ่ายข้าราชการประจำฝั่งสธ.ต้องมองออก แต่เป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมจึงแสร้งมองไม่เห็น หรือเป็นความจงใจสมคบกับฝ่ายการเมือง “ฮุบกิจการ” จะได้ควบคุมได้แบบ “เบ็ดเสร็จ” ตามสไตล์ ซีอีโอ ที่ เป็นความถนัดของการเมืองและข้าราชการ ที่ไม่มีศรัทธาต่อศักยภาพและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ

ที่น่าแปลกใจที่สุดเห็นจะเป็นฝั่ง สปสช.ที่รับรู้ว่า สธ.มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาโดยตลอดแต่ สปสช.กลับนิ่งเงียบ เงียบเชียบจนผิดสังเกตว่า สปสช.“คิดอะไรอยู่” เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือมีข้อเสนออื่นใดหรือไม่....ก็ไม่มีใครรู้ได้...สปสช.เองมีกลไก อปสข.อยู่แล้ว บทบาทนี้ทำให้ สปสช.องออกมาพูดอะไรบ้าง แต่ด้วยความกลัวและเกรงใจ สธ.อย่างล้นเหลือจึงทำให้สปสช.ต้องเงียบเชียบ ประหนึ่งว่าไม่มีความวิตกกังวลใดๆ... นาทีนี้จึงต้องบอกว่า ระวังไฟใหม้บ้านแล้วจะดับไม่ทัน

งานนี้ผู้สันทัดกรณีแสดงความเห็นว่า หากฝ่ายการเมือง และกระทรวงสาธารณสุขมีความจริงใจ ต้องปล่อยให้พื้นที่เขตสุขภาพมีอิสระจริง โดย“คณะกรรมการเขตสุขภาพ” ต้องไม่อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข และหาก สธ.ยังเสนอโครงสร้างแบบที่กำลังทำก็ควรเรียกชื่อคณะกรรมการนี้เสียใหม่ว่า “คณะกรรมการเขตบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข” จะได้ไม่สับสน....

เขตสุขภาพที่จะเกิดขึ้น 1 ตุลาคมนี้ จึงสะท้อนชัดเจนว่า นี่เป็นยุทธการกินรวบระบบสุขภาพ ข้ออ้างเพื่อประชาชน แต่การปฏิบัติสวนทางชัดเจน


กำลังโหลดความคิดเห็น