xs
xsm
sm
md
lg

คสรท.แจงพนักงานถูกบีบออกงานไร้ความเป็นธรรม แนะ กสร.สร้างความเข้าใจแก่แรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รองประธาน คสรท.เผยแรงงานสตรีสูงวัยร้องถูกบีบคั้นให้ลาออกจากงาน นายจ้างให้เงินก้อนเป็นค่าจ้างลาออก ชวดได้เงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน อธิบดี กสร.เตือนนายจ้างอาศัยช่องกฎหมาย ไม่จ่ายเงินชดเชย ขาดจริยธรรม ระวังไม่มีคนเข้าทำงานด้วย เร่งเผยแพร่ความรู้แก่แรงงานสูงอายุ

วันนี้ (24 ก.ย.) น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า คสรท.ได้รับร้องเรียนจากแรงงานสตรีสูงอายุจำนวนหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ในบริษัทธุรกิจสิ่งทอขนาดใหญ่ในจังหวัดสมุทรสาคร โดยทำงานต่อเนื่องกับบริษัทแห่งนี้มานาน แต่บริษัทกลับบีบบังคับให้ลูกจ้างกลุ่มนี้ลาออกจากงาน และจ่ายเงินให้จำนวนหนึ่งเท่ากับเงินเดือน 3-4 เดือน เปรียบเป็นเงินจ้างออกจากงาน ทำให้ลูกจ้างกลุ่มนี้ไม่ได้รับเงินค่าชดเชยซึ่งเป็นไปตามอายุการทำงานตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดไว้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิตามกฎหมายของลูกจ้าง

แรงงานที่มาร้องเรียนนั้นทำงานมากับบริษัทแห่งนี้มานาน 20-30 ปี ก็ควรได้รับการตอบแทนที่ดี และได้เงินค่าชดเชยตามกฎหมายให้สมกับที่ได้ทำงานสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่บริษัทมายาวนาน ไม่ใช่ตอบแทนด้วยการบีบคั้นให้ออกจากงาน และให้เงินมาก้อนหนึ่งเพื่อจะได้ประหยัดเงินบริษัท ลูกจ้างเหล่านี้เสียเปรียบ เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน อยากให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เร่งเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ให้แก่แรงงานโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานสูงอายุที่ทำงานกับบริษัทแห่งใดแห่งหนึ่งต่อเนื่องมายาวนานเพราะเชื่อว่าต่อไปจะมีการจ้างแรงงานสูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงอายุครบ 55 ปีแล้ว บริษัทก็ยังไม่ให้เกษียณยังจ้างทำงานต่อจนถึงอายุ 60 ปี หรือมากกว่า 60 ปี” รองประธาน คสรท.กล่าว

ด้าน นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า หากนายจ้างเลิกจ้างแรงงานจะต้องจ่ายค่าชดเชยซึ่งเป็นไปตามอายุการทำงานตามที่มาตรา 118 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดไว้ เช่น อายุงานเกิน 3 ปี ต้องได้ค่าชดเชย 6 เดือน อายุงานเกิน 6 ปี ต้องได้ค่าชดเชย 8 เดือน อายุงาน 10 ปีขึ้นไปต้องได้ค่าชดเชย 10 เดือน แต่ถ้าแรงงานสมัครใจลาออกเองจะไม่ได้เงินชดเชยจากนายจ้าง อย่างไรก็ตาม หากนายจ้างใช้วิธีบีบคั้น กดดันให้ลูกจ้างสูงอายุลาออกจากงานเองโดยอาศัยช่องกฎหมายเพื่อไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ทำให้ประหยัดเงินของบริษัทก็เป็นการกระทำที่ขาดคุณธรรม จริยธรรมในการดูแลลูกจ้างโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่หากทำเช่นนี้ต่อไปจะไม่มีแรงงานเข้าไปทำงานด้วย ทั้งนี้ กสร.จะเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ลูกจ้างต้องได้รับให้แก่แรงงานในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่สูงอายุ


กำลังโหลดความคิดเห็น