xs
xsm
sm
md
lg

เตือนแพทย์ตรวจท่อน้ำตา เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่หน้า หากทิ้งไว้อาจติดเชื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เตือนแพทย์ตรวจการฉีกขาดของท่อน้ำตา หากเกิดอุบัติเหตุบนใบหน้า โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ล้ม หากทิ้งไว้ไม่รักษาจะเกิดภาวะน้ำตาเอ่อที่หัวตา ติดเชื้อที่รูเปิดท่อน้ำตา และเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ แนะรักษาด้วยวิธีการร้อยท่อโพลีเอทีลีน ทิ้งไว้ 4 เดือน ช่วยให้หายดีเป็นปกติ ไม่มีการติดเชื้อ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ทพญ.วรรณพร ศิริวัฒนชาติ หน่วยศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวภายหลังนำเสนอผลงานวิชาการ “การรักษาการบาดเจ็บของระบบท่อน้ำตาด้วยการใช้ท่อโพลีเอทีลีน” ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2556 ว่า ศัลยกรรมช่องปากและใบหน้าขากรรไกรเป็นงานศัลยกรรมเฉพาะทางสาขาหนึ่งของทันตแพทย์ ปัจจุบันนี้ถือว่ายังไม่แพร่หลายเท่าไรนัก โดยขอบข่ายของงานศัลยกรรมด้านนี้จะรักษาอาการบาดเจ็บบนใบหน้าและศีรษะ ซึ่งโรงพยาบาลขอนแก่นจะมีการจัดระบบดูแลการรักษาพยาบาลด้านนี้ 2 หน่วยคือ หน่วยศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล และหน่วยศัลยกรรมพลาสติก

ทพญ.วรรณพร กล่าวอีกว่า จากการดำเนินการรักษาพยาบาลด้านนี้มาหลายปีพบว่า หากมีอาการบาดเจ็บใกล้บริเวณด้านใกล้กลางของหัวตา ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลฉีกขาดอย่างเดียว หรือร่วมกับกระดูกหักบริเวณจมูก เบ้าตา และเอทมอยด์ มีโอกาสทำให้เกิดอันตรายต่อระบบท่อน้ำตาซึ่งประกอบด้วย รูเปิดท่อน้ำตา ท่อน้ำตา และถุงเก็บน้ำตาที่อยู่บริเวณหัวตาทั้งสองข้าง รวมถึงท่อระบายน้ำตา ซึ่งจะระบายน้ำตาออกสู่โพรงจมูก โดยมีรูเปิดอยู่ที่ช่องจมูกส่วนล่างได้ ทั้งนี้ สาเหตุของการบาดเจ็บของท่อน้ำตา พบว่า ร้อยละ 84 เกิดจากการบาดเจ็บทางอ้อมหรือการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ล้ม และร้อยละ 16 เกิดจากการบาดเจ็บโดยตรงจากวัตถุมีคม ร้อยละ 80 มักเกิดกับท่อน้ำตาด้านล่างมากกว่าด้านบน

ทุกวันนี้เวลาผู้ป่วยเกิดอุบัติเหตุเป็นแผลใกล้ดวงตาก็มักจะรักษาโดยที่ไม่ได้พิจารณาว่ามีการบาดเจ็บของระบบท่อน้ำตาหรือไม่ ซึ่งถือว่าอันตรายมาก เพราะผู้ป่วยจะเกิดภาวะน้ำตาเอ่อที่หัวตา ซึ่งเป็นผลมาจากหนังตาที่ผิดตำแหน่งไป หรือมีการอุดตันของท่อน้ำตาจากกระดูกที่ผิดตำแหน่ง ทำให้เกิดการติดเชื้อที่รูเปิดท่อน้ำตาได้ และหากไม่ได้รับการแก้ไขจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา จึงอยากเสนอให้แพทย์ที่ทำการรักษา หากมีแผลบริเวณดังกล่าวต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง” ทพญ.วรรณพร กล่าว

ทพญ.วรรณพร กล่าวด้วยว่า จากการรายงานกรณีศึกษาผู้ป่วย 2 ราย ที่มีการบาดเจ็บของท่อน้ำตาด้านล่าง ด้วยวิธีการรักษาโดยการร้อยท่อโพลีเอทีลีนเข้าไปในท่อน้ำตาที่ฉีกขาดและร้อยเข้ากับส่วนท่อน้ำตาหลัก และสอดลงมาในท่อระบายน้ำตาออกจากรูจมูกและผูกไว้กับปลายอีกข้าง ผลการรักษาพบว่า ในช่วงแรกผู้ป่วยยังคงมีน้ำตาเอ่อที่หัวตาอยู่บ้าง แต่เมื่อทิ้งไว้ครบ 4 เดือนก็หายดีเป็นปกติ ไม่พบการติดเชื้อบริเวณรูเปิดท่อน้ำตา สามารถตัดท่อดังกล่าวออกได้ อย่างไรก็ตาม การการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวขึ้นอยู่กับอาการบาดเจ็บว่ามากน้อยขนาดไหน หากแผลไม่ลึกมากอาจร้อยท่อแค่บริเวณข้างตา ไม่จำเป็นต้องร้อยท่อผ่านรูจมูก


กำลังโหลดความคิดเห็น