xs
xsm
sm
md
lg

แฉ! สถิติ 3 ปีธุรกิจน้ำเมาทำผิดกฎหมาย 675 คดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดสถิติ 3 ปี ธุรกิจน้ำเมาทำผิดกฎหมายมากถึง 675 คดี ครึ่งหนึ่งเป็นการกระทำผิดเกี่ยวกับการโฆษณา นิติกรเผยข้อความในเว็บไซต์บริษัทแอลกอฮอล์ผิดกฎหมายแทบทั้งหมด ทั้งโชว์ภาพ เสนอราคา จัดกิจกรรมเชิญชวน ยันโฆษณาเหล้าแบบถูกกฎหมายได้ เร่งสร้างความเข้าใจผู้ผลิตโฆษณา
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (5 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ น.ส.ชนกธิดา ศิริวัตร นิติกร สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในเวทีชี้แจงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 หัวข้อ “โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบไหนผิดกฎหมาย” จัดโดยสมาคมโฆษณาดิจิตอล สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน ว่าปัจจุบันการกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 สถิติการดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2553-2556 พบว่า มีจำนวน 675 คดี โดยครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 330 คดี เป็นการทำผิดเกี่ยวกับการโฆษณามาตรา 32 คือ การจัดโปรโมชันส่งเสริมการขาย ไม่มีข้อความคำเตือน ไม่มีข้อความสร้างสรรค์สังคม และการทำผิดในลักษณะป้ายชนิดต่างๆ ทั้งป้ายตู้ไฟ ป้ายแบนเนอร์ โปสเตอร์ และการใช้ตราสัญลักษณ์ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น แก้ว ร่ม เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมการขายเช่นกัน

“การเปิดเวทีชี้แจงต่อนักโฆษณา ถือเป็นความพยายามทำความเข้าใจเพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งนักโฆษณาถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยชี้แจงต่อบริษัทธุรกิจแอลกอฮอล์ให้กระทำถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกเหนือจากการจับผู้กระทำความผิด ทั้งนี้ การกระทำผิดในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะยังเป็นการกระทำผิดในแง่ของการโฆษณาทั้งสื่อสาธารณะ และโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งมีการดำเนินคดีให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง” น.ส.ชนกธิดา กล่าว

น.ส.ชนกธิดากล่าวอีกว่า การโฆษณาตามกฎหมายฉบับนี้หมายถึงการกระทำไม่ว่าวิธีใดๆ ให้ประชาชนได้ยินหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ทางการค้า จะหมายรวมว่าเป็นการสื่อสารการตลาด ซึ่งจะมีการแสดงข้อความปรากฏด้วยอักษร ภาพ แสง เสียง เครื่องหมาย ที่ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ยังมีการสื่อสารด้วยกิจกรรมทั้งการขายสินค้า บริการ สร้างภาพลักษณ์ การประชาสัมพันธ์ การแสดงสินค้า และการจัดกิจกรรมพิเศษ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมชี้แจงมีคำถามจากผู้ผลิตโฆษณาในเรื่องการใช้ภาพสินค้าและโลโก้สินค้าจำนวนมาก ซึ่งได้มีการชี้แจงและยกตัวอย่างของโฆษณาที่มีการกระทำผิดกฎหมายเพื่อให้เกิดการปรับปรุงในอนาคตต่อไป

ส่วนใหญ่การโฆษณาของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเว็บไซต์จะปรากฏโลโก้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สินค้าบรรจุภัณฑ์ ราคา ภาพข้อความเพื่อประโยชน์ทางการค้า การชักจูงให้ดื่ม ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีในการโฆษณาที่ถูกกฎหมายอยู่คือ สามารถโฆษณาได้โดยห้ามเห็นภาพตัวสินค้า ส่วนโลโก้ผลิตภัณฑ์หากเป็นโฆษณาทางโทรทัศน์จะสามารถปรากฏได้ไม่เกิน 2 วินาที และต้องมีคำเตือนถึงอันตรายของการดื่ม ส่วนในเว็บไซต์สามารถระบุรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ได้ แต่ต้องไม่มีข้อความในเชิงอวดอ้างสรรพคุณ” น.ส.ชนกธิดากล่าว และว่าการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 32 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยหากกระทำความผิดครั้งแรกจะเปรียบเทียบปรับ 5 หมื่นบาท ครั้งที่ 2 เปรียบเทียบปรับ 2 แสนบาท และครั้งที่ 3 จะเปรียบเทียบปรับเต็มจำนวนคือ 5 แสนบาท สำหรับผู้กระทำความผิดลำดับแรกคือสื่อที่ทำการเผยแพร่ ผู้ว่าจ้าง และผู้ผลิตโฆษณาตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น