xs
xsm
sm
md
lg

“สนธยา” แฉพบวัฒนธรรมใหม่ “ถ่ายก่อนกิน” ชี้ไม่ถูกกาลเทศะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สนธยา” แฉพบวัฒนธรรมใหม่ “ถ่ายก่อนกิน”-คนไทยคุยกันผ่านโซเชียลมีเดียเพิ่ม ระบุใช้เทคโนโลยีไม่ถูกกาลเทศะ เตือน วธ.ปรับบทบาทตัวเองตามโลกาภิวัตน์ เตรียมผลักดันเป็นกระทรวงกึ่งเศรษฐกิจ

ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ วันนี้ (22 ส.ค.) นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวมอบนโยบายในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงวัฒนธรรมตามยุทธศาสตร์ประเทศ “ทศวรรษใหม่ วัฒนธรรมนำไทย” แก่วัฒนธรรมจังหวัด สภาวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ว่า เพื่อสร้างความเข้าใจแนวนโยบายการปรับบทบาทกระทรวงวัฒนธรรมจากกระทรวงด้านการอนุรักษ์ไปสู่ภาคสังคมกึ่งเศรษฐกิจ โดยนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันสร้างรายได้เข้าประเทศ เพราะที่ผ่านมาสังคมมองการทำงานวัฒนธรรมเป็นนักอนุรักษ์เข้มข้น เมื่อมีกระแสอะไรใหม่ๆ เข้ามาก็จะคอยเฝ้าระวังและตอบโต้สังคม มีอยู่ช่วงหนึ่งมีภาพลักษณ์คอยต่อต้านกับคนทำละคร บางคนมองว่า วธ.เป็นหน่วยที่ขัดขวางทางวัฒนธรรมบ้างก็มี และเมื่อถามว่าบุคคลที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมคือใคร หลายคนจะตอบว่า นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช เป็นต้น

นายสนธยา กล่าวว่า วันนี้ในสังคมโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดน วธ.จะเดินหน้าอย่างไร ยิ่งมีโลกออนไลน์ คนนิยมใช้แต่โซเชียลมีเดีย เกิดเป็นวัฒนธรรม ถ่ายก่อนกิน เมื่อก่อนปกติแล้วเรากินก่อนถ่าย ขณะนี้พอสั่งอาหารมักหยิบโทรศัพท์มือถือมานั่งถ่ายรูปส่งให้เพื่อนดู เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียก่อน หรือบางครั้งมาพอนั่งโต๊ะร่วมกันก็จะไม่คุยกัน แต่จะหยิบโทรศัพท์มือถือคนละเครื่องมานั่งกด นั่งคุยกันผ่านออนไลน์เอา ถามว่าเทคโนโลยีดีไหม ตอบว่ามีข้อดี แต่ก็มีผลเสีย จึงต้องใช้ให้ถูกกาลเทศะ คนไทยเล่นโซเชียลมีเดียเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง เท่ากับหมดเวลาไปกับหน้าโทรศัพท์ 1 วันทำงาน ทั้งไลน์ เฟซบุ๊ก วอตส์แอป แต่คนสิงคโปร์ใช้โทรศัพท์ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเป็นส่วนใหญ่ ทำให้นิยมแต่เทคโนโลยี คนห่างจากรากวัฒนธรรมตัวเอง เหล่านี้ถือเป็นโจทย์ทำให้เรามองต่อไป วธ.ควรจะมีบทบาทเช่นไร

นายสนธยา กล่าวด้วยว่า ตนจะมีการปรับการทำงานของวัฒนธรรม เป็นวัฒนธรรมกึ่งเศรษฐกิจ โดยเน้นดูยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล นโยบายสังคม คือการสร้างคุณค่าทางวัฒนธรรม รักษารากวัฒนธรรม ขณะนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบให้ วธ.ดูแล เมืองท่องเที่ยววัฒนธรรม สินค้าและบริการด้านวัฒนธรรม และเรื่องของวัฒนธรรมกับอาเซียน ดังนั้น การปรับบทบาทกระทรวงวัฒนธรรมไปสู่กระทรวงกึ่งเศรษฐกิจ นำไปสู่งานสืบสาน มีการศึกษา วิจัย วัฒนธรรมอันเป็นรากตัวเอง การสร้างสรรค์ โดยการสร้างคุณค่า การแสดงเผยแพร่วัฒนธรรมร่วมสมัยที่โดนใจ เข้าถึงง่าย และมีการบูรณาการ สร้างความร่วมมือภาครัฐเอกชน ประชาชนในพื้นที่โดยมีวัฒนธรรมจังหวัดและสภาวัฒนธรรม เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน แม้ปัจจุบัน วธ.จะได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาล 5 พันล้านบาท แต่มั่นใจว่าหากปรับเป็นกระทรวงกึ่งเศรษฐกิจน่ามีงบประมาณสนับสนุนถึงหมื่นล้านแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น