แพทย์เผยเนื้องอกมดลูกมีหลายอาการบ่งชี้ ทั้งประจำเดือนมามากผิดปกติ ปัสสาวะบ่อย หรือคลำเจอก้อนเนื้อ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการ อึ้ง! เนื้องอกขนาดใหญ่กระทบการมีบุตรยาก ชี้หลังผ่าตัดยังเสี่ยงมดลูกแตกหากเบ่งคลอด
วันนี้ (31 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. พญ.พัทยา เฮงรัศมี อาจารย์สาขาวิชาการใช้กล้องเพื่อส่องตรวจและรักษาทางนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในโครงการสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจก่อนการผ่าตัดทางกล้องนรีเวช “โรคเนื้องอกมดลูก” จัดโดยศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดสหสาขาวิชาผ่านกล้องไทย-เยอรมัน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า การสังเกตโรคเนื้องอกมดลูกทำได้ยาก เพราะหากก้อนเนื้อมีขนาดเล็กจะไม่ส่งผลกระทบใดต่อร่างกาย แต่เมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นอาการของโรคก็จะมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดเนื้องอก เช่น บริเวณผิวนอกของมดลูก หากใหญ่จนเบียดกระเพาะปัสสาวะจะทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย หากโตขึ้นด้านหลังผิวนอกมดลูกจนเบียดกับลำไส้ ก็จะทำให้การขับถ่ายลำบาก หรือหากเป็นเนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูก หรือในโพรงมดลูกก็จะดันจนพื้นที่โพรงมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะทำให้อักเสบง่าย มีอาการปวดประจำเดือนมาก และมีประจำเดือนออกมากผิดปกติ ในรายที่เป็นขั้นรุนแรงอาจทำให้เสียเลือดจนซีด ถึงขั้นเป็นลม
“หากมีประจำเดือนมาผิดปกติ มีเลือดออกเยอะ ปัสสาวะบ่อย หรือหากก้อนเนื้อโตจนสามารถคลำพบได้ ควรรีบมาตรวจเพื่อทำการวินิจฉัยว่ามีก้อนเนื้องอกที่บริเวณใด ตำแหน่งใด เพื่อที่จะสามารถทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง เพราะหากเป็นบริเวณผิวนอกมดลูกหรือเกิดในกล้ามเนื้อมดลูกก็ต้องใช้วิธีผ่าตัดส่องกล้องผ่านช่องท้อง แต่หากเกิดในโพรงมดลูกก็ต้องผ่าตัดผ่านทางช่องคลอด” พญ.พัทยา กล่าว
พญ.พัทยา กล่าวอีกว่า การรักษาเนื้องอกมดลูกจะรักษาตามอาการ หากก้อนเนื้อมีขนาดเล็ก ไม่ส่งผลกระทบใดต่อร่างกายหรืออาการยังไม่ชัดเจนก็อาจยังไม่ต้องดำเนินการรักษาใด หากมีอาการปวดประจำเดือนมากก็ให้ยาแก้ปวดประจำเดือน เป็นต้น สำหรับในหญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน หรือวัยทอง สามารถปล่อยเนื้องอกไว้ได้ เพราะเนื้องอกจะตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งเมื่อประจำเดือนหมดก็จะทำให้เนื้องอกค่อยๆ ฝ่อลงไปเอง ส่วนในกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ต้องดูว่าอาการรบกวนชีวิตของผู้ป่วยมากหรือไม่ หากอาการรุนแรงก็จะแนะนำให้ผ่าตัด ซึ่งต้องดูความต้องการผู้ป่วยก่อนว่าต้องการที่จะมีบุตรหรือไม่ หากต้องการที่จะมีบุตรก็จะผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้อออกไป แต่หากเป็นมากหรือไม่มีความต้องการที่จะมีบุตร ก็อาจเลือกที่จะผ่าตัดทั้งมดลูกออกไป ซึ่งการผ่าตัดจะต้องเป็นช่วงหลังหมดประจำเดือนแล้ว เพื่อไม่ให้เสียเลือดมากขึ้น และผู้ป่วยต้องไม่มีอาการซีด แต่หากมีอาการรุนแรงมากก็อาจจะต้องผ่าตัดเลย โดยให้เลือดร่วมเพื่อแก้ไขอาการซีด
ด้าน รศ.นพ.อัมพัน เฉลิมโชคเจริญกิจ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมฯ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคเนื้องอกมดลูกถือว่ามีจำนวนมาก สังเกตได้จากจำนวนการผ่าตัดด้านนรีเวชวิทยาของ รพ.ศิริราช ในปี 2555 พบว่า กว่าร้อยละ 60 เป็นการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกและช็อกโกแลตซีสต์ ซึ่งสาเหตุของการเกิดเนื้องอกมดลูกยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงมาจากพันธุกรรม อาหาร หรือสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ผู้สูงอายุจะมีโอกาสเป็นเนื้องอกมดลูกมากกว่าคนอายุน้อย ส่วนโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งมดลูกมีไม่ถึง 1% อย่างไรก็ตาม การเป็นเนื้องอกมดลูกจะส่งผลกระทบต่อการมีบุตรยาก เพราะเนื้องอกจะไปขวางการฝังตัวของไข่ ส่วนการผ่าตัดหากก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่อาจจะทำให้เกิดแผล ซึ่งจะมีส่งผลกระทบต่อการคลอดบุตร หากคลอดตามธรรมชาติเมื่อมดลูกมีการบีบตัว อาจทำให้มดลูกแตกได้ จึงต้องคลอดด้วยวิธีการผ่าตัดเท่านั้น
วันนี้ (31 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. พญ.พัทยา เฮงรัศมี อาจารย์สาขาวิชาการใช้กล้องเพื่อส่องตรวจและรักษาทางนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในโครงการสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจก่อนการผ่าตัดทางกล้องนรีเวช “โรคเนื้องอกมดลูก” จัดโดยศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดสหสาขาวิชาผ่านกล้องไทย-เยอรมัน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า การสังเกตโรคเนื้องอกมดลูกทำได้ยาก เพราะหากก้อนเนื้อมีขนาดเล็กจะไม่ส่งผลกระทบใดต่อร่างกาย แต่เมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นอาการของโรคก็จะมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดเนื้องอก เช่น บริเวณผิวนอกของมดลูก หากใหญ่จนเบียดกระเพาะปัสสาวะจะทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย หากโตขึ้นด้านหลังผิวนอกมดลูกจนเบียดกับลำไส้ ก็จะทำให้การขับถ่ายลำบาก หรือหากเป็นเนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูก หรือในโพรงมดลูกก็จะดันจนพื้นที่โพรงมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะทำให้อักเสบง่าย มีอาการปวดประจำเดือนมาก และมีประจำเดือนออกมากผิดปกติ ในรายที่เป็นขั้นรุนแรงอาจทำให้เสียเลือดจนซีด ถึงขั้นเป็นลม
“หากมีประจำเดือนมาผิดปกติ มีเลือดออกเยอะ ปัสสาวะบ่อย หรือหากก้อนเนื้อโตจนสามารถคลำพบได้ ควรรีบมาตรวจเพื่อทำการวินิจฉัยว่ามีก้อนเนื้องอกที่บริเวณใด ตำแหน่งใด เพื่อที่จะสามารถทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง เพราะหากเป็นบริเวณผิวนอกมดลูกหรือเกิดในกล้ามเนื้อมดลูกก็ต้องใช้วิธีผ่าตัดส่องกล้องผ่านช่องท้อง แต่หากเกิดในโพรงมดลูกก็ต้องผ่าตัดผ่านทางช่องคลอด” พญ.พัทยา กล่าว
พญ.พัทยา กล่าวอีกว่า การรักษาเนื้องอกมดลูกจะรักษาตามอาการ หากก้อนเนื้อมีขนาดเล็ก ไม่ส่งผลกระทบใดต่อร่างกายหรืออาการยังไม่ชัดเจนก็อาจยังไม่ต้องดำเนินการรักษาใด หากมีอาการปวดประจำเดือนมากก็ให้ยาแก้ปวดประจำเดือน เป็นต้น สำหรับในหญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน หรือวัยทอง สามารถปล่อยเนื้องอกไว้ได้ เพราะเนื้องอกจะตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งเมื่อประจำเดือนหมดก็จะทำให้เนื้องอกค่อยๆ ฝ่อลงไปเอง ส่วนในกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ต้องดูว่าอาการรบกวนชีวิตของผู้ป่วยมากหรือไม่ หากอาการรุนแรงก็จะแนะนำให้ผ่าตัด ซึ่งต้องดูความต้องการผู้ป่วยก่อนว่าต้องการที่จะมีบุตรหรือไม่ หากต้องการที่จะมีบุตรก็จะผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้อออกไป แต่หากเป็นมากหรือไม่มีความต้องการที่จะมีบุตร ก็อาจเลือกที่จะผ่าตัดทั้งมดลูกออกไป ซึ่งการผ่าตัดจะต้องเป็นช่วงหลังหมดประจำเดือนแล้ว เพื่อไม่ให้เสียเลือดมากขึ้น และผู้ป่วยต้องไม่มีอาการซีด แต่หากมีอาการรุนแรงมากก็อาจจะต้องผ่าตัดเลย โดยให้เลือดร่วมเพื่อแก้ไขอาการซีด
ด้าน รศ.นพ.อัมพัน เฉลิมโชคเจริญกิจ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมฯ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคเนื้องอกมดลูกถือว่ามีจำนวนมาก สังเกตได้จากจำนวนการผ่าตัดด้านนรีเวชวิทยาของ รพ.ศิริราช ในปี 2555 พบว่า กว่าร้อยละ 60 เป็นการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกและช็อกโกแลตซีสต์ ซึ่งสาเหตุของการเกิดเนื้องอกมดลูกยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงมาจากพันธุกรรม อาหาร หรือสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ผู้สูงอายุจะมีโอกาสเป็นเนื้องอกมดลูกมากกว่าคนอายุน้อย ส่วนโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งมดลูกมีไม่ถึง 1% อย่างไรก็ตาม การเป็นเนื้องอกมดลูกจะส่งผลกระทบต่อการมีบุตรยาก เพราะเนื้องอกจะไปขวางการฝังตัวของไข่ ส่วนการผ่าตัดหากก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่อาจจะทำให้เกิดแผล ซึ่งจะมีส่งผลกระทบต่อการคลอดบุตร หากคลอดตามธรรมชาติเมื่อมดลูกมีการบีบตัว อาจทำให้มดลูกแตกได้ จึงต้องคลอดด้วยวิธีการผ่าตัดเท่านั้น