xs
xsm
sm
md
lg

พบเด็กไทย ติดบุหรี่ 2 ล้านคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เด็กไทยติดบุหรี่แล้วกว่า 2 ล้านคน เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพฯหนุนมาตรการรัฐ เพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ยันเป็นมาตรการสำคัญป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ชี้ 27% ติดแล้วถึงเลิกได้

ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ในฐานะแพทย์ และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ ที่มีสมาชิกนับหมื่นคน ตนมีความเป็นห่วงอนาคตของเด็กไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะมาตรการสำคัญในการป้องกันเด็กจากการเข้าสู่วงจรการเสพติดบุหรี่กำลังถูกท้าทายจากผู้ผลิตบุหรี่ซึ่งได้กำไรมหาศาล จากการขายสินค้าที่ฆ่าลูกค้าของตัวเอง ขณะนี้มีเด็กและเยาวชนติดบุหรี่แล้ว 2,200,000 คน และเพิ่มขึ้นปีละ 100,000 คน ซองบุหรี่ต้องบอกความจริงแก่เด็กและเยาวชน ไม่ใช่เป็นตัวล่อเยาวชน ผู้ผลิตบุหรี่อาจบอกว่าขนาดคำเตือนที่เป็นอยู่ก็พอแล้ว แต่ตนคิดว่าคำเตือนบนซองบุหรี่ควรจะเป็นเต็มพื้นที่ หรือ 100% ด้วยซ้ำไป เพราะบุหรี่ไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม อย่างมหาศาล

ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จ.นครนายก กล่าวว่า บุหรี่มีอำนาจเสพติดสูงมาก คนไทยที่ติดบุหรี่ มีเพียงร้อยละ 27 เท่านั้นที่เลิกบุหรี่ได้ก่อนที่จะป่วย แต่ส่วนใหญ่ที่เหลือ จะติดบุหรี่ไปจนป่วยและตายด้วยโรคต่างๆ เช่น มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง และโรคหัวใจขาดเลือด โรคเส้นเลือดสมองและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) อื่นๆ โดยขณะนี้มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละ 50,700 คน หรือวันละ 138 คน โดยแต่ละคนอายุสั้นลงเฉลี่ย 12 ปี และก่อนเสียชีวิตผู้ป่วยเหล่านี้จะป่วยหนัก ทรมาน และสูญเสียคุณภาพชีวิตเป็นเวลาเฉลี่ย 2 ปี ยิ่งกว่านั้นยังต้องสูญเสียเงินอีกมหาศาลไปกับค่ารักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ โดยมีการประมาณการว่าประเทศไทยต้องเสียเงินประมาณ 52,200 ล้านบาท หรือ 0.5% ของจีดีพี

นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และอดีตนายกแพทยสมาคมโลก กล่าวว่า บุหรี่เป็นสินค้าที่ทำกำไรมหาศาลแก่อุตสาหกรรมยาสูบ แต่ก่อความสูญเสียอย่างมหาศาลต่อผู้สูบ ครอบครัว และ ประเทศชาติ รัฐบาลของนานาประเทศทั่วโลกจึงได้ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก และองค์การสหประชาชาติ ในการออกนโยบายและกฎหมาย ที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคต่างๆ ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCD) ที่บั่นทอนสุขภาพของประชาชน แต่ขณะนี้บริษัทบุหรี่กำลังท้าทายต่อกฎหมายของไทย ที่รัฐบาลมุ่งจะปกป้องสุขภาพของประชาชน หากประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องเพิ่มคำเตือนบนซองบุหรี่เป็น 85% ถูกยกเลิก ตนเชื่อว่า ความเสียหายต่อสุขภาพและต่อเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นตามมานั้น จะส่งผลไม่เฉพาะต่อประเทศไทยและเด็กไทยเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก เพราะจะทำให้หลายประเทศไม่สามารถออกกฎหมายที่เข้มแข็งเช่นนี้ได้ ซึ่งนั่นน่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญของบริษัทบุหรี่ในการฟ้องกระทรวงสาธารณสุขไทยในครั้งนี้

นายส่องแสง ธรรมศักดิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ กล่าวว่า จากสถิติของผู้ที่โทร.เข้ามาขอคำปรึกษาในการเลิกบุหรี่ ทาง Quitline 1600 พบว่าผู้ที่โทร.เข้ามาจำนวนมากตื่นตัวจากการได้เห็นภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ดังนั้นตนเชื่อว่าการเพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่ให้ใหญ่ขึ้น จะยิ่งส่งผลให้ผู้สูบบุหรี่รับรู้ถึงอันตรายของการสูบบุหรี่และอยากเลิกสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น