xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรคยันสารรมข้าวระเหยใน 5 วัน ไม่มีสารตกค้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรคยันสารรมควันข้าวไม่มีพิษตกค้างแน่ ชี้สามารถระเหยหมดได้ภายใน 5 วัน

วันนี้ (16 ก.ค.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สารที่ใช้ในการรมข้าวที่เก็บไว้ในโกดัง คือ “เมทิลโบรไมด์” (Methyl bromide) และ “อลูมิเนียมฟอสไฟด์” (Aluminium Phosphide) หรือ “ฟอสฟีน” เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชและฆ่าเชื้อราต่างๆ ซึ่งประเทศไทยได้ใช้สารดังกล่าวมานานมากกว่า 40 ปีแล้ว เมื่อแยกตามชนิดและคุณสมบัติของสารจะพบว่า เมทิลโบรไมด์เป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และมีข้อได้เปรียบกว่าสารรมชนิดอื่นๆ คือ สามารถฆ่าแมลงได้ในทุกระยะของการเจริญเติบโต มีความสามารถในการฟุ้งกระจายและแทรกซึมเข้าไปในสินค้าได้ดี ไม่กัดโลหะ เครื่องมือเครื่องใช้ ในขณะเดียวกันก็สามารถระบายสารออกจากกองสินค้าได้เร็วเมื่อสิ้นสุดการรม ใช้ระยะเวลาในการรมสั้น และเป็นสารที่ไม่ติดไฟ ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานง่ายขึ้น สามารถสลายตัวภายใน 3 ชั่วโมง ถึง 5 วัน และไม่มีพิษตกค้าง

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า ส่วนฟอสฟีนเป็นสารที่อยู่ในรูปของสารประกอบฟอสไฟด์ 2 ชนิด คือ อลูมิเนียมฟอสไฟด์ (aluminium phosphide) และแมกนีเซียมฟอสไฟด์ (magnesium phosphide) ซึ่งผลิตมาในหลายรูปแบบ สารรมในรูปแบบเม็ดจะสามารถใช้ได้กับการรมผลิตผลเกษตรที่บรรจุกระสอบหรือถุง หรือรมในโรงเก็บ โดยมีลักษณะการกระจายตัวของแก๊สได้อย่างรวดเร็ว ใช้เวลานานในการรมประมาณ 5-7 วัน และทำปฏิกิริยากับโลหะ เช่น ทอง ทองแดง และเงิน เป็นต้น ใช้เวลาในการสลายตัวดีมากประมาณ 5 ชั่วโมง ไม่มีพิษตกค้าง

ด้าน นพ.ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับผู้ที่มีหน้าที่พ่นสารรมควัน ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็มีการจัดฝึกอบรม โดยมีคำแนะนำและวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องอยู่แล้ว และในการดำเนินการก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปกำกับดูแลทุกครั้ง เพื่อให้กระบวนการเป็นไปอย่างครบถ้วน และปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้วย ในส่วนของกรมควบคุมโรคก็มีการดำเนินงานเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชน ตามโครงการ “เกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส” โดยโรงพยาบาลทั่วประเทศจะสุ่มเจาะเลือดตรวจในกลุ่มเกษตรกรและประชาชนทั่วไป เพื่อคัดกรองความเสี่ยงและดำเนินงานเฝ้าระวังโรคจากสารกำจัดศัตรูพืช นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำคู่มือเกษตรกรปลอดโรค แจกจ่ายสำหรับเกษตรกรและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)


กำลังโหลดความคิดเห็น