xs
xsm
sm
md
lg

ดึงจุดแข็ง กทม.-บช.น.แก้ปัญหายาเสพติด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สุขุมพันธุ์” ผุดไอเดียดึงจุดแข็ง กทม.และ บช.น.ร่วมแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ฟุ้งเท่ากับมีทั้งเครือข่ายเฝ้าระวังและผู้ทำการปราบปราม มั่นใจได้ผล ด้านรอง ผบช.น.แนะหาวิธีติด CCTV ทุกจุดใน กทม.เหมือนต่างประเทศ
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.
วันนี้ (2 ก.ค.) ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ กทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศพส.กทม.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การประสานความร่วมมือระหว่าง 50 สำนักงานเขต และ สถานีตำรวจนครบาล 88 แห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามแผนกรุงเทพฯ ปลอดภัย ไร้ยาเสพติด (Bangkok Clear)” ว่า กทม.ในฐานะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร (กอ.รมน.กทม.) และ ศพส.กทม.มีหน้าที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงต่างๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ตนในฐานะ ผอ.สพศ.กทม.ได้มอบนโยบายให้กับผู้บริหาร กทม.ดำเนินโครงการตามแผนกรุงเทพฯปลอดภัย ไร้ยาเสพติด (Bangkok Clear) และสอดคล้องกับคำสั่งศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ ที่ 9/2556 เรื่องแนวทางการขับเคลื่อนปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน ปี 2556 (เมษายน - กันยายน 2556)

กทม.เพียงหน่วยงานเดียว ไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหายาเสพติดได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ รวมทั้งอาสาสมัครป้องกันยาเสพติดเป็นเครือข่ายในการปฏิบัติงาน ซึ่งสำนักงานเขตจะต้องประสานการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดกับสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ทั้ง 88 สถานี ในการเฝ้าระวัง และให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยและยาเสพติดให้กับประชาชนในชุมชน รวมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวอีกว่า กทม.และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้ประสานความร่วมมือในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดมานานเแล้ว แต่ขาดความต่อเนื่องและไม่ได้บูรณาการความร่วมมือให้เป็นระบบทั้งด้านปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ซึ่งจากนี้ไป กทม.และ บช.น.จะเดินหน้าทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งดึงจุดแข็งของแต่ละองค์กรมาใช้ โดย กทม.มีเครือข่ายการปฏิบัติงานในแต่ละชุมชนในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส ขณะที่ บช.น.และ สน.ท้องที่ มีความเชี่ยวชาญในการป้องกันและปราบปราม อย่างไรก็ตาม การดูแลผู้ติดยาเสพติดเป็นสิ่งสำคัญต้องไม่มองผู้เสพเป็นอาชญากร แต่ต้องนำผู้เสพไปบำบัดรักษา และไม่ให้กลับไปเสพยาเสพติด เพื่อคืนคนดีสู่สังคม

ด้าน พล.ต.ต.มานิต วงศ์สมบูรณ์ รอง ผบช.น.กล่าวว่า การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย กทม.ในฐานะเป็นเจ้าของพื้นที่และมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและพื้นที่ให้ปราศจากความเสี่ยง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดและป้องกันเหตุไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมเกิดจากจุดล่อแหลม และจุดเสี่ยง จำเป็นต้องหารือร่วมกันในการกำหนดแนวทางการดูแลพื้นที่ เช่น การปรับปรุงสภาพแวดล้อม การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง การติดตั้งกล้องซีซีทีวี (CCTV) การจัดกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในจุดเสี่ยงต่างๆ รวมถึงด้านงบประมาณ และการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ กทม.ได้ดำเนินการติดตั้งกล้อง CCTV บริเวณสี่แยกใหญ่แล้ว และมีนโยบายที่จะติดตั้งเพิ่มเติมอีกในจุดสำคัญต่างๆ แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้สามารถติดตั้งได้ครอบคลุมทุกพื้นที่เหมือนในต่างประเทศที่ติดตั้งกล้อง CCTV บนถนนทุกเส้นทางเพื่อติดตามเหตุการณ์และเบาะแส


กำลังโหลดความคิดเห็น