กรมศิลป์ สั่งสำนักศิลปากรทั่วประเทศ เฝ้าระวังโบราณสถาน หลังพบแผ่นดินไหว พายุถี่ขึ้น เผยสถิติ ปี 53 แผ่นดินไหวสร้างความเสียหายกว่า 20 แห่ง ปี 54 เกิดมหาอุทกภัยเสียหายกว่า 300 แห่ง
นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ในปัจจุบันไทยได้ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ซึ่งบางครั้ง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะโบราณสถาน นอกจากนี้ยังเจอพิบัติภัย ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม หรือพายุฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน จนได้รับความเสียหายได้ กรมศิลปากร จึงแจ้งให้ สำนักศิลปากรทั้ง 15 สำนัก เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยธรรมชาติ ที่จะเกิดผลกระทบต่อโบราณสถานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้กำชับด้วยว่าหากเกิดการณ์ใดขึ้น ให้รายงานตรงเข้ามาให้ตนได้รับทราบทันที จากนั้นจะได้รายงาน นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และนายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม รับทราบในการประสานงานช่วยเหลือต่อไป
“ผมได้สั่งการให้สำนักศิลปากรทั่วประเทศ รวบรวมข้อมูลว่า โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนและยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนว่า มีที่ใดได้รับผลกระทบจากพิบัติภัยหรือไม่ ในเบื้องต้น ผมได้รับรายงานว่า ยังไม่มีโบรานสถานใดได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว หรือพายุฝนฟ้าคะนอง ในระดับที่รุนแรง มีเพียงความเสียหายเล็กน้อยเท่านั้น” อธิบดีกรมศิลปากร
ทั้งนี้ จากสถิติโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อปี 2553 ทางภาคเหนือ ได้รับความเสียหายกว่า 20 แห่ง โดยเฉพาะ จ.เชียงราย ได้รับความเสียหายมากที่สุดถึง 10 แห่ง เช่น เจดีย์วัดพระธาตุจอมกิตติ องค์พระธาตุเจดีย์หลวง เจดีย์วัดป่าสัก เจดีย์วัดปราสาทคุ้ม วิหารวัดพระธาตุภูเข้า สำหรับปี 2554 โบราณสถานได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัย กว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ส่วนปี 2555 ไม่มีรายงานความเสียหาย แต่ได้ดำเนินการฟื้นฟูจากความเสียหายเท่านั้น