xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมใส่ “ทศชาดก” ในแบบเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉลอง 150 ปี วันประสูติสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เผยภาพชุด “ทศชาดก” ฝีพระหัตถ์ลายเส้นดินสอ ทรงเขียนประทานผู้ถวายน้ำสงกรานต์ พ.ศ. 2467 ครั้งแรก เตรียมเผยแพร่ให้เป็นแบบเรียนประกอบการศึกษาของคนที่เรียนศิลปะต่อไปในอนาคต

นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “สรรพศิลปะสิทธิวิทยาธร : สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์” มีนายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมผู้บริหาร นักวิชาการ ประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดย ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สมเด็จครู” ว่า จากการศึกษาผลงานและประวัติของพระองค์ท่านเพิ่มเติม ตลอดพระชนมายุของพระองค์ท่านได้สร้างสรรค์งานไว้มากมาย นอกจากจะเรียนหนังสือ ฝึกฝนวิชาการทหาร ในพระบรมมหาราชวัง และเข้ารับราชการสนองงานพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ 5 ขณะเดียวกันพระองค์ท่านเริ่มศึกษางานด้านศิลปะด้วย

ม.ร.ว.จักรรถ กล่าวว่า ในประวัติพระองค์ท่านเขียนไว้ว่า เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจเรื่องประเคนอาหารให้พระแล้ว ไม่มีอะไรทำ ก็หันไปสนใจกับเสียงดนตรีปีพาทย์ ขอไปนั่งฟัง ขอเล่นดนตรีบ้าง ทรงเรียนรู้ทุกอย่าง หรือไปที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อดูช่างเขียนจิตรกรรมฝาผนังทำงานศิลปะอยู่ในวัดพระแก้ว แล้วจำว่าเค้าเขียนอย่างไร มีเครื่องมืออย่างไร พอกลับถึงตำหนักที่ประทับหากระดาษดินสอมาลองเขียนตามแต่ที่จำมา เป็นการเรียนรู้แบบครูพักลักจำจริงๆ ผลงานศิลปะของพระองค์ท่านโด่งดังมีชื่อเสียงมาก อาทิ ภาพชื่อ โพนช้าง ภาพเขียนชนะเลิศ พ.ศ.2419 พระชันษา 13 ปี และภาพชุดทศชาดก ฝีพระหัตถ์ลายเส้นดินสอทรงเขียนประทานผู้ถวายน้ำสงกรานต์ ตั้งแต่ พ.ศ.2467 เป็นต้นไป เนื่องจากมีบุคคลทั่วไป ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงกรานต์ทุกปี ท่านทรงวาดภาพปีละ 1 รูปให้เป็นของที่ระลึกแก่ผู้มาถวายน้ำสรงกรานต์

ในโอกาสวันเฉลิมฉลองฯ 150 ปีวันประสูตินี้ จึงคิดออกว่าสิ่งใดที่ยังไม่เคยเผยแพร่ให้ผู้สนใจได้เห็นกันเลย ก็คือ ภาพที่เป็นฝีพระหัตถ์เป็นลายเส้นดินสอแท้ๆ ยังไม่เคยเปิดเผยให้ใครได้เห็นเพราะว่าที่ผ่านมามีแต่ภาพฝีพระหัตถ์ที่วาดเสร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตาลปัตร โบสถ์วัด ก็มักจะเผยแพร่องค์ศิลปะที่ก่อสร้างสำเร็จแล้วให้ประชาชนได้เห็นได้รู้จัก แต่ภาพฝีพระหัตถ์ลายเส้นดินสอถือเป็นการนำเอาลายฝีพรหัตถ์ของพระองค์ท่านผ่านลายเส้นดินสอแท้ๆ นำมาเผยแพร่ให้ประชาชนชื่นชม ขณะนี้ได้รวบรวมภาพงานศิลปะอีกจำนวนมากเก็บภาพถ่ายหรือเก็บในรูปแบบดิจิตอลไว้ และจะเริ่มเผยแพร่ให้เป็นแบบเรียนประกอบการศึกษาของคนที่เรียนศิลปะต่อไปในอนาคต นี่คือพระมรดกที่ยินดีที่จะมอบให้เยาวชนรุ่นต่อไปได้ศึกษาฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านตามวัตถุประสงค์หลักของ มูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ ในการช่วยกันจรรโลงศิลปะของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น