สอศ.ขานรับนโยบาย “ปู” ดูแลเด็กด้อยโอกาส ผู้สูงวัย ให้มีความรู้และอาชีพ เล็งใช้ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพที่ตั้งตามโครงการรัฐบาลเป็นตัวขับเคลื่อน การันตีเรียนครบตามหลักสูตรออกไปทำอาชีพได้แน่นอน พร้อมเผยที่ผ่านมาผลิต นศ.ปวส.หลักสูตรดูแลเด็กและผู้สูงวัย แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยม เหตุเด็กไม่มั่นใจในอาชีพทั้งที่เป็นแรงงานที่ต้องการ เล็งร่วมสถานประกอบการด้านบริการผู้สูงอายุร่วมยกระดับ นศ.
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาแรงงานเข้าร่วมประชุม พร้อมกำชับให้ดูแลกลุ่มสตรี ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงวัย เป็นพิเศษ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รับนโยบายให้ดูแลกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงวัย ในส่วนของผู้ด้วยโอกาสนั้น ที่ประชุมหยิบยกประเด็นเด็กที่เรียนจบ ม.3 และต้องการทำงานแต่ติดปัญหากฎหมายแรงงานหารือกัน ซึ่ง สอศ.วางแผนไว้ว่าจะประสานกับสถานประกอบการ เพื่อดึงเด็กกลุ่มนี้มาทำงานควบคู่กับการเรียนอาชีวะ ส่วนผู้สูงอายุนั้น สอศ.จะจัดโครงการฝึกอบรมอาชีพ โดยคาดว่าจะใช้ศูนย์อบรมอาชีพในสถานศึกษาของ สอศ.จำนวน 121 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งเปิดอบรมให้บุคคลทั่วไปที่ต้องการเรียนอาชีพมาใช้ป็นสถานที่อบรมด้วย
ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวเป็นโครงการของรัฐบาล ที่ให้วิทยาลัยที่มีความศักยภาพโดดเด่นเฉพาะด้าน เปิดอบรมอาชีพแก่ประชาชน เช่น วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ เด่นเรื่องอาหารนานาชาติ ก็เปิดอบรมด้านอาหาร เป็นต้น โดยแต่ละหลักสูตรใช้เวลาอบรมไม่น้อยกว่า 75 ชั่วโมงแต่การันตีว่านำไปประกอบอาชีพได้แน่นอน อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพของ สอศ.นั้นจะไม่ซ้ำซ้อนกับการฝึกอบรมอาชีพของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เพราะ สอศ.มีจุดต่างในเรื่องความพร้อมของเครื่องไม้เครื่องมือในการอบรมอาชีพเฉพาะด้าน เช่น อาชีพสาขาช่างต่างๆ เป็นต้น
เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อว่า นอกจากการอบรมเพื่อสร้างอาชีพแก่ผู้สูงอายุแล้วนั้น ในส่วนของการดูแลเด็กและผู้สูงอายุนั้น สอศ.ได้พยายามผลิตกำลังคนที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเปิดสอนหลักสูตรการดูแลเด็กและผู้สูงอายุ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากมองว่าอาชีพเมื่อเรียนจบไปยังไม่มั่นคง ทั้งๆ ที่อาชีพบริการผู้สูงอายุนั้น ในปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมาก โดยปีการศึกษา 2555 มีสถานศึกษาเปิดสอนทั้งสิ้น 4 แห่ง คือ วิทยาลัยการอาชีพ (วก.) เชียงราย มีผู้เรียน 17 คน วก.พล 8 คน วิทยาลัยเทคนิค (วท.) เดชอุดม 3 คน และ วท.สุวรรณภูมิ 1 คน ดังนั้น สอศ.จึงเตรียมไปจับมือกับผู้ประกอบการที่ทำงานด้านนี้อยู่แล้ว ซึ่งนอกจากจะยกระดับฝีมือของผู้เรียนแล้ว ยังเพิ่มคุณวุฒิให้กับผู้ประกอบการได้อีกด้วย