xs
xsm
sm
md
lg

“เครื่องมือคัดกรองเด็กและเยาวชน” หนทางพิทักษ์สิทธิเด็กไทย...หลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รู้หรือไม่ สถิติคดีเด็กและเยาวชนกระทำผิดของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ปี 2555 มีคดีที่เด็กและเยาวชน กระทำความผิดสูงถึง 30,000 คดี โดยเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดสูงที่สุด มีเด็กที่อยู่ในการดูแลของกรมพินิจฯ 9,000 คน

เมื่อสอบประวัติเด็กเหล่านี้ พบข้อเท็จจริงที่น่าตกใจว่า ความผิดที่ก่อขึ้นบางครั้งเด็กไม่ได้อยากเป็นผู้กระทำผิดเอง แต่เกิดจากการยัดเยียด กดดันของผู้ใหญ่ รวมไปถึงปัจจัยสภาพแวดล้อม หาใช่เด็กอยากจะเป็นอาชญากรวัยกระเตาะโดยแท้จริง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการพัฒนาระบบการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การกระทำผิดของเด็กและเยาวชนเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์หรืออื่นๆ แต่คนทั่วไปมักคิดว่าเด็กที่ทำผิดเป็นเด็กที่เลวโดยกำเนิด ซึ่งความจริงแล้วการที่เด็กกระทำผิด หลายครั้งสาเหตุไม่ได้เกิดจากตัวเด็กเอง แต่มีปัจจัยมาจากการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม หรือแม้กระทั่งความเจ็บป่วยของร่างกายของเด็ก

“เด็กที่ทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จำเป็นต้องผ่านการประเมินระดับความรุนแรงของปัญหาและความจำเป็นที่เด็กจะได้รับ รวมถึงวิเคราะห์หาสาเหตุการทำผิด เพื่อทำเป็นข้อเสนอแนะแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สงเคราะห์และคุ้มครองให้สอดคล้องกับปัญหาและความจำเป็นของเด็กแต่ละราย หากขาดการจำแนกที่ดี การบำบัดแก้ไขฟื้นฟูก็ยากที่จะสำเร็จ ซึ่งแต่เดิมจะอาศัยดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ แต่ปัญหาคือเจ้าหน้าที่มีประสบการณ์ ทัศนคติต่างกัน อาจมองเด็กที่มีปัญหาหนึ่งคนไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือวิเคราะห์ในแบบหลักวิชาการ” รองปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าว

เครื่องมือดังกล่าวได้ถูกนำใช้ในต่างประเทศมานานแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน หากจะใช้เครื่องมือเหล่านี้จะต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ให้กับประเทศเจ้าของลิขสิทธิ์ ดังนั้น กรมพินิจฯ ร่วมกับ สสส.จึงได้พัฒนาคิดค้นเครื่องมือนี้ขึ้นเองจากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง โดยเรียกว่า “เครื่องมือและระบบการประเมินจำแนก คัดกรองเด็กและเยาวชน” ซึ่งมีคุณภาพและมาตรฐานเทียบเท่าของต่างประเทศ

นายธวัชชัยบอกอีกว่า ขณะนี้ได้พัฒนาต่อยอดทำเป็นซอฟต์แวร์ ที่เพียงกรอกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ ใช้เวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง ก็สามารถจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้ ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานสะดวก เป็นฐานข้อมูลสืบค้นสภาพแวดล้อมของเด็กแต่ละราย และวิเคราะห์หาความเชื่อมโยงของสาเหตุ ลักษณะอุบัติการณ์ของปัญหา กำหนดนโยบายและแผนดำเนินงานจัดการปัญหาได้ดีขึ้น

ที่สำคัญยังช่วยพิทักษ์สิทธิ์เด็กขณะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะสามารถลดความเสี่ยงความผิดพลาดของข้อมูลได้ และช่วยให้เจ้าหน้าที่แก้ไขปัญหาของเด็กในระดับต้นเหตุได้ อย่างคดียาเสพติดต่อให้บำบัดเด็กได้ แก้ไขพฤติกรรมเด็กได้ แต่ถ้าสาเหตุมาจากครอบครัวของเด็กที่ข้องเกี่ยวกับยาเสพติด แก้อย่างไรเด็กก็จะกลับไปยุ่งกับยาเสพติดเหมือนเดิม เป็นต้น

เครื่องมือจำแนกดังกล่าวสามารถนำมาประเมินเด็กปกติได้ เพื่อหาแนวโน้มความเสี่ยงในการทำผิด เช่น เด็กคนหนึ่งขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ก็จะพยายามหาทางสร้างการยอมรับ จนบางครั้งอาจจะเลือกทางที่ผิดได้ เมื่อเรารู้ตรงนี้ก็จะสามารถป้องกันได้ก่อน

แต่แน่นอนว่าการป้องกันสิ่งจำเป็นคือการเฝ้าระวัง ทั้งจากที่บ้าน คนสนิท หรือแม้แต่ครูที่โรงเรียน ก็มีส่วนช่วยเฝ้าระวังได้เป็นอย่างดี

โดยนางฐาณิชชา ลิ้มพานิช มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว อธิบายว่า การสร้างเครือข่ายครอบครัวเพื่อช่วยเหลือดูแลกัน สามารถลดการเกิดอาชญากรรมในเด็กได้ ดังตัวอย่างที่ขณะนี้เครือข่ายครอบครัวร่วมมือกันเฝ้าระวังเรื่องการพนัน และเรื่องสื่อสร้างสรรค์ เช่น โทรทัศน์ เรตติ้ง วิดีโอเกม ละคร ความรุนแรง และเพศ เป็นต้น หรือแม้แต่ครอบครัวที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ครอบครัวที่มีลูกพิการ ตรงนี้จะช่วยให้ครอบครัวที่มีหัวอกเดียวกัน เจอปัญหาแบบเดียวกันมาร่วมพูดคุย แก้ปัญหา หรือแนะนำกันได้ อย่างบางครอบครัวบอกว่า การนำประสบการณ์ตัวเองมาบอกเล่าไม่ใช่การประจานครอบครัวตัวเอง แต่ถ้าประสบการณ์ของตัวเองสามารถช่วยครอบครัวอื่นได้คือเรื่องน่ายินดี

“การเฝ้าระวังเด็กไม่ให้เป็นอาชญากรพ่อแม่ต้องเฝ้าระวังแต่เล็ก ไม่เพียงแต่ลูกเราแต่ต้องช่วยเป็นหูเป็นตาให้ลูกของเครือข่ายด้วย เป็นลักษณะของสังคมสวัสดิการที่รัฐยังไม่มี แต่เราสามารถจัดการช่วยเหลือกันเองได้” นางฐาณิชชากล่าว

นอกจากครอบครัวแล้ว สถานศึกษายังเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีความสำคัญในการช่วยเฝ้าระวัง และปลูกฝังให้เด็กเป็นผู้มีสุขภาวะดีได้ โดยเฉพาะพฤติกรรมด้านสุขภาพ เนื่องจากเวลาของเด็กส่วนใหญ่จะอยู่กับเพื่อน ครู และโรงเรียน หากสถานศึกษาสามารถดูแลและเฝ้าระวังเด็กได้ก็สามารถเพิ่มพลเมืองที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศชาติได้เช่นกัน

ข้อมูลและความรู้ดีๆ เหล่านี้จะถูกนำมาถ่ายทอดภายในงาน “สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่” ในระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคมนี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ จะช่วยกันขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมสุขภาวะ
กำลังโหลดความคิดเห็น