xs
xsm
sm
md
lg

สธ.สั่งโรงหมอกว่า 10,000 แห่ง พร้อมรับมืออุบัติเหตุสงกรานต์ 24 ชั่วโมง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงสาธารณสุข สั่งการโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศกว่า 10,000 แห่ง พร้อมรับมือดูแลรักษาผู้บาดเจ็บ และป่วยฉุกเฉินทั้งกำลังแพทย์พยาบาล รถพยาบาลฉุกเฉิน ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ไอ.ซี.ยู. คลังเลือด ในช่วง 5 วันเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนโทร.แจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งเป้าลดการเสียชีวิตหรือพิการให้น้อยที่สุด พร้อมทั้งคุมเข้มการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 เรื่องหลัก ทั้งเวลา อายุต้องห้าม และสถานที่ห้ามดื่ม ห้ามขาย ฝ่าฝืนลงโทษไม่ละเว้นแม้อ้างว่าไม่รู้กฎหมายก็ตาม

วันนี้ (9 เม.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แถลงข่าวมาตรการการเตรียมพร้อมดูแลรักษาผู้บาดเจ็บในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2556 ว่า ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าลดการเสียชีวิตและป้องกันความพิการจากอุบัติเหตุจรให้มีน้อยที่สุด โดยเน้นหนัก 2 มาตรการหลักได้แก่ การรักษาพยาบาล และการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมาย 2 ฉบับอย่างเคร่งครัด เพื่อลดปัญหาเมาแล้วขับ ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปริมาณการใช้รถใช้ถนนจะมาก เพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าช่วงปกติ 2 เท่าตัว

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในด้านการรักษาพยาบาล ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับที่มีกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ เตรียมกำลังทีมแพทย์ แพทย์เฉพาะทางด้านอุบัติเหตุ ด้านศัลยกรรม พยาบาล เจ้าหน้าที่อื่นๆ ทั้งประจำการที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติ 1-2 เท่าตัว โดยเฉพาะความพร้อมที่ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอ.ซี.ยู. สำรองคลังเลือดทุกหมู่ พร้อมให้การรักษาผู้บาดเจ็บตลอด 24 ชั่วโมง และเตรียมทีมแพทย์ฉุกเฉินหรือหน่วยกู้ชีพ ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 12,691 ทีม ครอบคลุมถึงระดับหมู่บ้าน มีบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินร่วมปฏิบัติงาน 122,945 คน มีรถพยาบาลกู้ชีพและกู้ภัยฉุกเฉิน 14,189 คัน โดยมีเบอร์โทรศัพท์สายด่วนให้ประชาชนโทรแจ้งขอความช่วยเหลือ 1669 ซึ่งมีครอบคลุมทั่วประเทศ ฟรี หลังวางโทรศัพท์หน่วยปฏิบัติการจะเดินทางไปถึงจุดเกิดเหตุให้ได้ภายใน 10 นาที เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ลดความพิการและเสียชีวิตให้เหลือน้อยที่สุด และทุกโรงพยาบาลจะปฏิบัติดูแลรักษาประชาชนทุกสิทธิการรักษา ภายใต้นโยบายรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถูกถามสิทธิ์ รักษาทันที ทุกที่ทุกคน” โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ผู้บาดเจ็บทุกสิทธิการรักษา สามารถเข้ารับบริการในโรงพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน จนกว่าอาการทุเลา กลับบ้านได้ ได้กำชับให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เร่งประชาสัมพันธ์สายด่วน 1669 ให้ประชาชนรับทราบและเรียกใช้บริการเมื่อประสบอุบัติเหตุ
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการลดความเสี่ยงป้องกันปัญหาอุบัติเหตุจราจรจากเมาแล้วขับ ในปีนี้จะเข้มข้นการบังคับใช้กฎหมาย 2 ฉบับคือ 1.พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะการขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ขายในสถานที่ห้ามขาย เช่นปั๊มน้ำมัน สวนสาธารณะ และในเวลาห้ามขาย รวมทั้งการเร่ขาย การโฆษณาลด แลก แจก แถม พบฝ่าฝืนมีโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับแล้วแต่กรณี และ 2.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นกฎหมายลูก

เรื่องห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับรถ หรือโดยสารในรถ หรือบนรถ หากพบฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยมีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ได้สั่งการให้สถานบริการในสังกัดทั่วประเทศ จัดเจ้าหน้าที่ และ อสม.รณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ให้บริการที่จุดตรวจ/จุดบริการประชาชนในพื้นที่ และให้โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่บนเส้นทางหลวง ที่มีประมาณ 200 แห่ง จัดหน่วยกู้ชีพประจำจุดที่มีความเสี่ยง ทำงานร่วมกับมูลนิธิต่างๆ ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ การเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้บาดเจ็บในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2555 ที่ผ่านมา พบว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 3,215 ครั้ง ในปี 2554 เหลือ 3,129 ครั้ง ในปี 2555 ส่วนผู้บาดเจ็บลดจาก 3,476 ราย เหลือ 3,320 ราย แต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังไม่ลด โดยเพิ่มขึ้นจาก 271 ราย เป็น 320 รายในปีเดียวกัน ซึ่งร้อยละ 60 เป็นผู้ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มากที่สุด เกือบทั้งหมดไม่สวมหมวกนิรภัยและดื่มเหล้าด้วย ร้อยละ 46 อีกทั้งผู้เสียชีวิตร้อยละ 20 เป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี นอกจากนี้ยังเป็นผู้เสียชีวิตจากการใช้รถปิกอัพ โดยเฉพาะการขนคนไปเล่นสงกรานต์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 17 ในปี 2555

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลการสำรวจผู้กระทำผิดในช่วงสงกรานต์ 2555 มีการขายสุราในปั๊มน้ำมันและสวนสาธารณะลดน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา ปั๊มน้ำมันเหลือเพียงร้อยละ 5 สวนสาธารณะร้อยละ 1 และขายในเวลาห้ามขายเหลือไม่ถึงร้อยละ 1 เป็นการกระทำผิดทั้งๆที่ผู้ค้าส่วนใหญ่ ร้อยละ 83 รู้กฎหมาย แต่ต้องการมีรายได้ กลัวเสียลูกค้าประจำ ในปีนี้ จะเพิ่มการประชาสัมพันธ์กฎหมายก่อนเทศกาลให้มากขึ้น และเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายให้มากขึ้น โดยให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคทั้ง 12 เขต ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ออกตรวจเตือนและประชาสัมพันธ์ ทั้งเรื่องสถานที่ห้ามขายห้ามดื่ม เวลาและอายุที่ห้ามขาย เน้นหนักในวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงที่สุด ในเทศกาลสงกรานต์ปี 2555 ตรวจจับผู้กระทำผิดและดำเนินคดี 107 ราย อันดับ 1 เป็นการโฆษณาส่งเสริมการขาย รองลงมาคือขายโดยไม่มีใบอนุญาต ขายในปั๊มน้ำมัน ร้านขายยา และ ขายนอกเวลาที่อนุญาต บางรายทำผิดมากกว่า 1 กระทง

ด้าน นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้เตรียมระบบการช่วยเหลือทางน้ำและทางอากาศในกรณีที่เกิดในพื้นที่ห่างไกล โดยประสานเตรียมเรือ 1,128 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 101 ลำ และเครื่องบิน 7 ลำ ประชาชนสามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนกู้ชีพ 1669 หลังวางสายจะเดินทางถึงจุดเกิดเหตุภายใน 10 นาที ให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80
กำลังโหลดความคิดเห็น