ชาวญี่ปุ่นส่งคืนพระพุทธรูปสมัยรัชกาลที่ 3-5 จำนวน 18 องค์ กลับไทย หลังซื้อต่อจากกร้านของเก่า ‘กรมศิลป์’ ตรวจสอบพบเป็นโบราณวัตถุสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ชี้พระพุทธรูปทรงเครื่อง-ครองจีวรลายดอก ปัจจุบันหาชมยาก
วันนี้ (9 เม.ย.) นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้รับแจ้งจากกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ว่า นางโทชิโกะ อุรุชิมะ ชาวกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้ประสานมายังสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว โดยมีความประสงค์ขอส่งคืนพระพุทธรูปจำนวน 18 องค์ ซึ่งบิดาของสามีได้ซื้อพระพุทธรูปดังกล่าวมาจากร้านขายโบราณวัตถุ ขณะนี้สามีของนางโทชิโกะได้เสียชีวิตแล้ว จึงต้องการคืนพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์ให้แก่ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากรได้ตรวจสอบพระพุทธรูปดังกล่าว พบว่าพระพุทธรูปโลหะทั้ง 18 องค์เป็นโบราณวัตถุของแท้ดั้งเดิมที่นิยมสร้างกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงรัชกาลที่ 3 ถึง5 ซึ่งสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ว่าจ้างและบรรจุหีบห่อ เพื่อขนส่งพระพุทธรูปทั้งหมดทางเรือจากประเทศญี่ปุ่นมาเก็บรักษาไว้ที่คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อ.คลองห้า จ.ปทุมธานี แล้ว
นายสหวัฒน์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบรายละเอียดของพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์ พบว่าเป็นพระพุทธรูป หล่อด้วยโลหะผสมลงรักปิดทองมีเพียง 2 องค์ที่ถูกทาทับด้วยสีใหม่ แต่เมื่อพิจารณาลักษณะพุทธศิลป์ สามารถจำแนกเป็นกลุ่มได้ ดังนี้ 1.กลุ่มพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ จำนวน 10 องค์ ประกอบด้วย พระยืนปางห้ามสมุทร 8 องค์ ขนาดความสูงตั้งแต่เกือบ 20 เซนติเมตร จนถึง 100 เซนติเมตร พระปางห้ามพระแก่นจันทน์ ขนาดสูง 43 เซนติเมตร และพระปางมารวิชัย ขนาดสูง 32 เซนติเมตร โดยอายุพระพุทธรูปดังกล่าวอยู่ในราวรัชกาลที่ 3-5 และมีหลายองค์ที่มีพระพักตร์อย่างหน้าหุ่น ซึ่งเป็นที่นิยมทำกันมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 1-2 ด้วย
2.กลุ่มพระพุทธรูปครองจีวรลายดอก จำนวน 5 องค์ ประกอบด้วย พระปางห้ามสมุทร 2 องค์ ขนาดสูง 167 และ 124 เซนติเมตร พระปางสมาธิ 2 องค์ ขนาดสูง 68 และ 14 เซนติเมตร และพระยืนปางอุ้มบาตรขนาดสูง 19 เซนติเมตร ซึ่งมีอายุในราวรัชกาลที่ 4-5 ทั้งนี้การสร้างพระพุทธรูปครองจีวรลายดอกเป็นที่นิยมมากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3
3.พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดสูง 19 เซนติเมตร มีลักษณะพิเศษคือ โดยรอบฐานทำเป็นพระพุทธรูปขนาดเล็กจำนวนมาก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 25 และ 4.พระมาลัยโปรดสัตว์นรก ขนาดสูง 28 เซนติเมตร มีลักษณะพิเศษคือ ทำเป็นรูปสัตว์นรก โดยรอบฐานอายุราวพุทธศตวรรษที่ 25 และ 5.พระสาวกนั่งพนมมือ ขนาดสูง 11 เซนติเมตร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 25
อย่างไรก็ตาม พระพุทธรูปทั้ง 18 องค์เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีคุณค่าความสำคัญเป็นพิเศษด้านศิลปกรรม เทคโนโลยี และฝีมือช่างไทยในอดีต โดยเฉพาะพระพุทธรูปทรงเครื่องและครองจีวรลายดอก จัดเป็นพุทธศิลปะแบบพระราชนิยม ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นในสมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24-25 หรือประมาณช่วงรัชกาลที่ 3-5 ซึ่งปัจจุบันหาชมได้ยากและมีเหลืออยู่ไม่มากนักตามวัดต่างๆ จึงสมควรอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกชาติต่อไป