xs
xsm
sm
md
lg

ซีเมคเปิดตัวโครงการซีมีโอคอลเลจ ที่เวียดนาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดแล้วประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 47 ชูการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมเปิดตัวศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตของซีมีโอ ที่เวียดนาม และเปิดตัวโครงการซีมีโอคอลเลจ ครั้งแรก ด้าน “ยงยุทธ” อดีต รมว.วิทย์ ร่วมบรรยาย ยกย่อง “รางวัลเจ้าฟ้ามหิดล” เป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดประชุมที่ประสบความสำเร็จบนเวทีสภาซีเมค

วันนี้ (20 มี.ค.) ที่เวียดนาม- นายเจือง เติ้น ซาง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นประธานเปิดการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 47 (47th SEAMEC Conference) ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2556 ภายใต้หัวข้อ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Life Long Learning) ซึ่งมีประเทศสมาชิกเข้าร่วม 11 ประเทศ อาทิ บรูไนดารุสซาลาม พม่า ไทย ฯลฯ และสมาชิกสมทบอีก 7 ประเทศ อาทิ นิวซีแลนด์ อเมริกา ฯลฯ โดยในการประชุมดังกล่าวได้มีการลงนามรับรับสหราชอาณาจักรเข้าเป็นประเทศสมาชิกสมทบเพิ่มอีก 1 ประเทศ รวมเป็น 8 ประเทศ ซึ่งในครั้งนี้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการไทย พร้อมด้วย นายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ รองปลัด ศธ.เดินทางเข้าร่วมด้วย

โดย ประธานาธิบดีเวียดนาม กล่าวระหว่างเปิดการประชุมว่า นโยบายสำคัญของเวียดนาม คือ การส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการศึกษาโดยเฉพาะที่ได้ทำจนประสบความสำเร็จมาหลายปี คือประชาชนในทุกจังหวัดของเวียดนามเข้าถึงการศึกษาระดับมัธยมศึกษา 100% สำหรับการศึกษาที่เวียดนามกำลังพัฒนาคุณภาพได้อย่างโดดเด่น คือ การศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา ซึ่งเวียดนามพยายามผลักดัน ขยายการอบรมเพื่อพัฒนานักเรียน นักศึกษา รวมถึงบุคลากรตามกรอบแนวทางที่ซีมีโอวางไว้ รวมไปถึงการส่งเสริมการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย

“รู้สึกยินดีที่การประชุมครั้งนี้เลือกหารือในหัวข้อการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นหลัก เพราะเป็นหัวข้อที่สำคัญและทำให้เกิดผลได้จริง โดยเฉพาะการที่องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) จะมีจัดตั้งศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิตของซีมีโอ หรือ ซีมีโอเซลล์ (SEAMEO CELL) ในเวียดนามนั้น ถือเป็นการตัดสินใจที่ดี เพราะศูนย์ดังกล่าวจะช่วยในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีคุณภาพ และเชื่อว่าการที่ รมว.ศึกษาธิการ ในแต่ละประเทศได้มาร่วมประชุมคราวนี้จะได้แลกเปลี่ยนโครงการใหม่ๆ ที่แต่ละประเทศได้เพื่อหาทางส่งเสริมความร่วมมือดังกล่าวในกลุ่มประเทศสมาชิกและมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนเพื่อนำไปสู่วางกลยุทธ์เพื่อนำไปสู่การจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกประเทศต่อไป” ประธานาธิบดีเวียดนาม กล่าว

ด้าน นายฟา อู ลวน รมว.ศึกษาธิการเวียดนาม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้รับรองสหราชอาณาจักรเข้ามาเป็นสมาชิกสมทบ ซึ่งตนเชื่อว่าสหราชอาณาจักรจะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของซีมีโอที่จะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร๋ ด้านการศึกษา และวัฒนธรรรม ในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรวมไปถึงระดับโลก ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ให้ความสำคัญเรื่องการจัดการศึกษาตลอดชีวิต การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เพราะฉะนั้น การประชุมสภาซีเมคจึงได้มีการลงนามในเอกสารข้อกฎหมายของจัดตั้งศูนย์ซีมีโอเซลล์ ขึ้นในเวียดนามขณะเดียวกันก็ได้มีการเปิดตัวโครงการซีมีโอคอลเลจ (SEAMEO College) ขึ้นครั้งแรกด้วย

ขณะที่ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีต รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมบรรยายถึงโครงการซีมีโอคอลเลจ ว่า ซีมีโอคอลเลจ นั้นจะเป็นเวทีของผู้บริหารการศึกษาระดับนโยบาย ได้แก่ รัฐมนตรี และนักการศึกษา ครูอาจารย์ รวมทั้งนักเรียนที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนทั้งนโยบายและวิชาการ ซึ่งจะเวทีที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งและความเชื่อมโยงในการร่วมพัฒนาการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานั้นจะคุ้ยเคยว่ามีแต่การประชุมด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ หรือด้านวิทยาศาสตร์ ที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีการจัดขึ้นทุกปี แต่ขณะที่ด้านการศึกษานั้นกลับไม่มีการประชุมเฉพาะด้านเลย เพราะฉะนั้น ตนมองว่าเป็นการดีที่จัดซีมีโอคอลเลจ แล้วจัดโปรแกรมต่างๆ ดึงคนเข้ามาร่วมประชุมหากเป็นไปได้ก็น่าจะจัดทุกปี หรืออย่างน้อย 2 ปีครั้ง ทั้งนี้ตนได้ยกตัวอย่างของประเทศไทยที่มีการจัดประชุมและมอบรางวัลซึ่งได้รับความสำเร็จ มีการดำเนินการมาต่อเนื่องนั่นคือ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นต้น

ด้าน H.E.Pehin Abu Bakar Apong รมว.ศึกษาบรูไน กล่าวว่า ซีมีโอคอลเลจ จะเป็นสถานที่สำหรับแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านการศึกษาระหว่างผู้นำการศึกษาและเจ้าหน้าที่ ซึ่งเวทีจะนำไปสู่การพูดคุย เพื่อกระตุ้นให้นวัตกรรมการศึกษาใหม่ๆ และทำให้คนในวงการศึกษาได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาและเรียนรู้จากตัวอย่างการจัดการศึกษาที่ดีของแต่ละประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น