เมื่อเร็วๆ นี้ มีโอกาสได้สัมผัสเรียนรู้วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม ชาวไทยพวน ผ่านศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดฝั่งคลอง ต.เกาะหวาย อ.ปากพลี จ.นครนายก ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดย สนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตัดริบบิ้นอย่างเป็นทางการเป็นแห่งแรก
ก้าวแรกที่เข้าไปในศูนย์ จะเห็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนเครื่องมือทำมาหากิน เช่น หม้อตาล ซึ่งเป็นหม้อดินสำหรับใช้ต้มตาลโตนด ตะเขิง ใช้สำหรับตากปลา เนื้อ ไหสำหรับเก็บปลาหลา เป็นเครื่องมือ ใช้กรอเส้นไหม เข้าหลอดด้ายก่อนนำไปใส่กระสวยทอผ้า กระบวย หม้อต้มกาแฟโบราณ หีบใส่ผ้า ตลอดจนเครื่องแต่งกายสมัยโบราณ จัดหมวดหมู่อย่างเป็นระเบียบ พร้อมคำอธิบายสั้นๆ
พระครูวิริยานุโยค เจ้าอาวาสวัดฝั่งคลอง ประธานกรรมการบริหารศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดฝั่งคลอง เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านนำของเก่าแก่ ล้ำค่า ที่หายาก ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน นำมาถวายให้วัด เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้รากเหง้าของชาวไทยพวนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคนรุ่นหลังจะได้เรียนรู้ว่าแต่ละยุคสมัยดำเนินชีวิตกันอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ของที่ชาวบ้านนำมาบริจาคมีจำนวนมาก และเพื่อให้คนรุ่นใหม่ ศึกษาเข้าใจง่ายขึ้น จึงจัดเป็นหมวดหมู่องค์ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นไปสู่ลูกหลาน เริ่มจากการจำลองที่อยู่อาศัย ใช้ชื่อว่า “เฮือนไทยพวน” โดยมีการแสดงประวัติความเป็นมาของการสร้างเฮือนไทยพวน 3 ยุค คือ ยุคต้น ในสมัย ปี 2372-2436 ยุคกลาง ปี 2436-2500 และ สมัยไทยพวนยุคปลาย ปี 2500-ปัจจุบัน
พระครูวิริยานุโยค บอกว่า สิ่งหนึ่งที่ผู้มาศึกษาเรียนรู้ ไม่ควรพลาด “เสื้อมะกะแหล่ง” เป็นเสื้อโบราณอายุ 200 ปี จะมีลักษณะเหมือนสายเดี่ยวของคนรุ่นใหม่ จากการศึกษาพบว่า ทำด้วยวัสดุผ้าฝ้ายสับปะรด คอกลมกว้าง ไม่มีแขน มีแบบเปิดไหล่ 1 ข้าง และแบบไม่เปิดไหล่ เสื้อดังกล่าวชาวไทยพวนจะใช้เป็นเสื้อชั้นใน หรือใส่อยู่บ้าน ซึ่งเสื้อตัวนี้ตกทอดมาหลายรุ่น จนมาถึง นางประทุม จันทร์เพ็ง นำมาถวายวัด ต้องการให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาการแต่งกายผู้หญิงไทยพวนในอดีต ไม่ได้ล่าสมัยอย่างที่คิด
นอกจากนี้ ยังได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยรวบรวมและนำเสนอข้อมูลความรู้และภาพเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมายัง อ.ปากพลี จ. นครนายก รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการทรงงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วย
ด้าน ศิริลักษณ์ จันนา ผู้ผลิตผ้าทอไทยพวน ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดฝั่งคลอง บอกว่า รู้สึกดีใจที่ วธ.มาเปิดศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดฝั่งคลอง เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และเปิดพื้นที่สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของคนในชุมชน โดยเฉพาะผ้าทอไทยพวน ที่มีการสืบทอดมานานหลายช่วงอายุคน ซึ่งคนส่วนใหญ่ในละแวกนี้นิยมนำมาใส่กัน นอกจากนี้ยังสืบทอดการทอผ้าทอไทยพวนไปสู่เยาวชนในพื้นที่ โดยการเปิดโอกาสให้เยาวชนในพื้นที่ที่มีความสนใจเข้ามาเรียนรู้การทอผ้าสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เพื่อเป็นการซึมซับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ มั่นใจได้ว่าจะไม่สูญหาย ทว่าสานต่อแล้วนำความรู้ความสามารถในการทอผ้านำไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้
...นับได้ว่า ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดฝั่งคลอง เป็นคลังมรดกวัฒนธรรม รอให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้