xs
xsm
sm
md
lg

เฟ้นหาว่าที่ เลขาฯ สพฉ.คนใหม่รอบแรก 25 ม.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
สพฉ.เฟ้นหาเลขาธิการคนใหม่ พร้อมพิจารณาคุณสมบัติรอบแรกวันที่ 25 ม.ค.ด้านคณะกรรมการคัดเลือก เผย สเปกเลขาฯ ใหม่ต้องพร้อมที่จะเสียสละ และทำงานอุทิศตนเพื่อผู้ป่วยฉุกเฉิน

ตามที่เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้หมดวาระลงแล้วเมื่อที่ 16 ธ.ค.2555 ที่ผ่านมา สพฉ.จึงได้มีการเปิดรับสมัครผู้เข้าดำรงตำแหน่งนี้ใหม่ โดยมีการประกาศรับสมัครผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.2555 ที่ผ่านมา และได้ทำการเปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการในวันที่ 7-11 มกราคม 2556 โดยมีผู้ที่สนใจเข้าสมัครคัดเลือก 2 คน ได้แก่ นายภวัต เลิศสุธน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขชุมชน และอาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน คือ เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการแผนงานด้านวิชาการในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน (สอจร.) ภาคตะวันออก และ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี โดยประสบการณ์การทำงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน อาทิ กรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (ผู้แทนสถานพยาบาลของรัฐ) คณะกรรมการเชี่ยวชาญระดับสูง (สาขาอุบัติเหตุ) และรองประธานคณะกรรมการแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุจราจร (สอจร.)

นายแพทย์ จรัล ตฤนวุฒิพงษ์ หนึ่งในคณะอนุกรรมการคัดเลือก กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครทั้งหมดโดยยึดตามมาตรตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ที่ระบุว่า ผู้สมัครต้องมีสัญชาติไทย มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป แต่ต้องไม่เกิน 60 ปี ไม่เป็นบุคลวิกลจริต จิตฟั่นเฟือน ไม่เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งศาลให้จำคุก หรือยึดทรัพย์จากการทุจริต ร่ำรวยผิดปกติ ยกเว้นเป็นความผิดโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ต้องไม่เป็นผู้บริหาร พนักงานของรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ที่มีเงินเดือนประจำ รวมทั้งต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง นักการเมือง ส.ส. ส.ว.ผู้บริหารท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น ต้องไม่เคยถูกไล่ออก ปลดจากตำแหน่งเพราะทุจริต

อย่างไรก็ตาม บุคคลที่จะได้รับคัดเลือกให้เข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินจะต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน มีความสามารถสูงในการบริหารจัดการ การวางแผนกลยุทธ์เพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาด้านการแพทย์ฉุกเฉินต่อไป นอกจากนี้ผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งจะต้องมีความเสียสละเนื่องจากงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินเป็นงานที่หนักมาก เพราะการเกิดอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่อาจสามารถคาดเดาเวลาได้ ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้จึงควรพร้อมที่จะอุทิศตนในการทำงานได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 25 ม.ค.เวลา 15.00 น.คณะอนุกรรมการจะเชิญผู้สมัครมาแสดงวิสัยทัศน์ และเสนอต่อคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ที่มี นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเพื่อพิจารณา คัดเลือก และแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ สพฉ.คนต่อไปในวันที่ 29 ม.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น