สสค.จัดกิจกรรมทดสอบทักษะเด็กไทย 3 ด้านในงานวันเด็กที่ทำเนียบรัฐบาล หลังพบตลาดโลกต้องการกำลังคนที่ไม่ได้มีความรู้อย่างเดียว แต่ต้องมี 3 ทักษะนำทางสู่การแข่งขันและใช้ชีวิต
วันนี้ (12 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานวันเด็กแห่งชาติที่ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้จัดกิจกรรมทดสอบทักษะของเด็กไทยยุคศตวรรษที่ 21 เพื่อประเมินภาพรวมทักษะของเด็กและเยาวชนไทยที่เข้าร่วมงานวันเด็กแห่งชาติที่ทำเนียบรัฐบาลว่ามีทักษะสู่ศตวรรษที่ 21 อยู่ในระดับใด
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค.กล่าวว่า การวัดคุณภาพเด็กรุ่นใหม่ในยุคตลาดแรงงานและการแข่งขันไร้พรมแดน ไม่ได้วัดกันที่ความรู้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมีทักษะการเรียนรู้ ทักษะจัดการความรู้ และทักษะสร้างสรรค์ความรู้ขึ้นใหม่ด้วย เนื่องจากความรู้เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขณะที่การสำรวจความเห็นของบริษัทและองค์กรชั้นนำของโลก 32 แห่ง อาทิ แอปเปิล ไมโครซอฟท์ เลโกกรุ๊ป วอล์ท ดิสนีย์ เป็นต้น ถึงคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการรับเข้าทำงาน พบว่า นอกจากความรู้แล้ว ยังต้องมีทักษะที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 1.ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม คือ คิดวิเคราะห์เป็น รู้จักแก้ไขปัญหา และมีความคิดสร้างสรรค์ 2.ทักษะชีวิตและอาชีพ คือ การทำงานร่วมกับผู้อื่น มีภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ และมีทักษะทางสังคมเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม และ 3.ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี คือ สามารถใช้สื่อ หรือเทคโนโลยีค้นหาข้อมูล และผลิตสื่อหรือเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ได้
“ทั้งหมดเป็นทักษะของกำลังคนที่ประเทศทั่วโลกและประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนให้การยอมรับ พร้อมกับมีความตื่นตัวในการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อส่งเสริมกำลังคนของประเทศตนเองให้มีทักษะดังกล่าว เพื่อให้ประเทศมีความพร้อมและขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกยุคไร้พรมแดน” ดร.ไกรยส กล่าว
ดร.ไกรยส กล่าวอีกว่า สำหรับการทดสอบทักษะของเด็กไทยในกิจกรรมงานวันเด็กแห่งชาติที่ทำเนียบรัฐบาลครั้งนี้ สสค.ได้จัดเป็นตัวอย่างฐานกิจกรรม 3 ฐาน ได้แก่ เกมสะพานกระดาษ จมหรือลอย และฉลองวันเกิด ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สนุก กระตุ้นการเรียนรู้ และส่งเสริมให้เด็กได้ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม โดยเด็กจะพบโจทย์ในแต่ละฐานกิจกรรมเพื่อประเมินทักษะทั้ง 3 ด้าน ว่า มีมากหรือน้อยอย่างไร พร้อมกับมีคู่มือแนะนำวิธีการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ในแต่ละด้านสำหรับครูและผู้ปกครองที่สนใจ เพื่อนำไปพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สสค. (www.QLF.or.th)