xs
xsm
sm
md
lg

มุมมองเด็ก “ฟรี” ปลูกนิสัยแบมือรับ “เน็ต” ค้นข้อมูลง่าย แต่เด็กอ่านน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน” ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบเป็นของขวัญวันเด็กแห่งชาติ ปี'56 ทว่า คำขวัญนี้จะสัมฤทธิ์ผลมากน้อยเพียงใด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงศึกษาธิการ คงต้องทุ่มสุดแรง เริ่มจากยกเครื่องหลักสูตร ปรับการเรียนการสอนภาษาเพื่อบ้าน และอื่นๆ เพื่อติดจรวดทางปัญญาให้แก่เด็กๆ

ฟากรัฐบาล ถือโอกาสฝากการบ้าน 3 ประเด็นให้ที่ประชุมสภานักเรียนร่วมกันคิด ดังนี้ 1.เวลาเรียนในแต่ละสัปดาห์ที่มีอยู่นั้นมากไปหรือน้อยไปหรือไม่ หรือที่ทำอยู่นั้นดีอยู่แล้ว 2.วิธีการเรียนการสอนที่โรงเรียนทำอยู่นั้นดีหรือไม่ สอนให้เด็กท่องจำมากเกินไปหรือไม่ หรือมีการสอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์หรือไม่ และ 3.การปลูกฝังจิตสำนึกประชาธิปไตยและคุณธรรม จริยธรรม ในโรงเรียนมีมากน้อยเพียงใด

คราวนี้ลองมาแนวคิดของนักเรียนกันบ้าง เริ่มจาก น.ส.พิชญานิน จวงจอง หรือ น้องนิ้ง นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนบางสะพานวิทยา จ.ประจวบคีรีขันธ์ สมาชิกสภานักเรียนปี 2556 กล่าวว่า การได้เข้ามาร่วมโครงการสภานักเรียนนั้น ทำให้มีโอกาสได้ศึกษาย้อนกลับไปดูบทบาทของสภานักเรียนรุ่นพี่ที่ผ่านมา รวมถึงข้อเสนอต่างๆ ที่มีการเสนอต่อรัฐบาลด้วย ซึ่งหากมองภาพรวมว่ารัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตอบรับข้อเสนอต่างๆ ของสภานักเรียนหรือไม่นั้น ตนคิดว่า มองได้ 2 มุม ยกตัวอย่างเรื่องปัญหาของนักเรียนไทยส่วนใหญ่มีภาวะยากจน ถ้าเรามองมุมของการช่วยเหลือจะเห็นว่ารัฐบาล และ ศธ.ก็พยายามช่วยเหลือ เช่น ทำมีการทำโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ มีการแจกชุดนักเรียนฟรี ฯลฯ แต่ในอีกมุมหนึ่งตนได้ข้อคิดมากจากการอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งพบว่า บางครั้งถ้ามีคนหยิบยื่นโอกาสให้เรามากจนเกินไปก็จะกลายเป็นว่าเราไม่รู้จักที่จะช่วยตนเอง

“ในฐานะเยาวชนและนักเรียน วันเด็กปีนี้ นิ้ง อยากเสนอให้ผู้ใหญ่ทุกท่านช่วยมาดูแลปรับระบบการศึกษาบ้าง โดยอยากขอให้กำหนดตารางเวลาเรียนที่เหมาะและชัดเจนว่าแต่ละวันนั้นเด็กควรจะเรียนเท่าใด เพราะทุกวันนี้พวกเราทุกคนเรียนหนักมาก ในหนึ่งวันเรียน 7-8 คาบต่อสัปดาห์ ซึ่งบางวันก็เจอวิชาหนักๆ ติดกันบางทีสมองก็รับไม่ไหว ในขณะที่โรงเรียนในต่างประเทศนั้นเขาไม่ได้เรียนอัดแน่นเหมือนเรา แต่เขากลับมีความรู้แน่นกว่ามาก ซึ่งถ้ามีการปรับเวลาเรียนจริงในอนาคตนนิ้งคิดว่าอยากขอให้จัดให้พอดีเฉลี่ยวิชาที่ยากและง่าย เพื่อที่การเรียนในแต่ละวันไม่หนักเกินไป” น.ส.พิชญานิน กล่าว

ด้าน นายสมัชชา สุวรรณกาญจน์ หรือ น้องนัท ชั้น ม.5 โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย จ.สมุทรสาคร สมาชิกสภานักเรียนปี 2556 กล่าวว่า ตนมองว่า การปรับเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ส่งผลให้การทำงานต่างๆ เหมือนต้องมาเริ่มใหม่ ทั้งที่เรื่องเดิมยังทำไม่เสร็จ ซึ่งตนไม่ได้มองว่ารัฐบาลใดดีไม่ดี เพียงแต่ในฐานะเด็กคนหนึ่งมีความเห็นว่าบางครั้งเมื่อเกิดการปรับเปลี่ยนบ่อยๆ โดยเฉพาะการศึกษาก็ทำให้เด็กปรับตัวไม่ทัน เช่น เรื่องการทดสอบวัดและประเมินผลทางการศึกษาต่างๆ ที่ในเวลานี้มีเพิ่มมากขึ้น บางครั้งจะอ่านหนังสือให้ทันสอบก็ไม่ไหว เวลาเรียนก็น้อย ดังนั้น ตนอยากให้ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องมาดูแลในเรื่องดังกล่าว

“อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องการอ่านหนังสือด้วย ผมยอมรับว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น พวกผมสามารถหาข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น แต่ผมก็สังเกตได้ว่าเด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลง อยากจะหาข้อมูลอะไรก็หาแต่ทางอินเทอร์เน็ตเท่านั้น พอได้ก็ก๊อบปี้มาวาง ทั้งที่เราควรจะค้นคว้าจากหนังสือมากกว่า จึงอยากขอให้ผู้ใหญ่ทุกคนหาวิธีการส่งเสริมการอ่านแก่เด็กเพื่อจะได้ปรับนิสัยเหล่านี้” นายสมัชชา กล่าว

นี่เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยจะได้ข้อสรุปวันนี้ (11 ม.ค.) เพื่อนำไปเสนอนายกฯ เชื่อว่า เด็กอยากให้ทำตามข้อเสนอ ไม่ใช่เป็นเพียงกระดาษที่ยื่นตามธรรมเนียม
กำลังโหลดความคิดเห็น