ที่ประชุมอนุฯตาม กม.เหล้า ยันหลักการเดิม “ห้ามขายเหล้าบนทาง” ตาม กม.จราจรทางบก พร้อมมีมติปรับข้อความคำเตือนบนโฆษณาเหล้า หลังผลสำรวจพบเด็กเมินคำเตือน เหตุไม่น่ากลัว
วันนี้ (9 ม.ค.) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการประชุมคณะอนุกรรมการร่างกฎกระทรวง ประกาศ และระเบียบ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ครั้งที่ 1/2556 ได้มีการพิจารณาทบทวนร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ....” ตามที่ที่ประชุมผู้บริหารกรมควบคุมโรคได้เสนอนั้น ที่ประชุมมีมติว่า ควรยืนยันหลักการเดิมตามร่างประกาศสำนักนายกฯดังกล่าว คือ ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ยกเว้นที่ส่วนบุคคล เนื่องจากผลเสียของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าด้วยรูปแบบและวิธีการแสดงข้อความคำเตือนประกอบภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือภาพสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. .... (ฉบับที่ 2) เนื่องจากควรมีการปรับปรุงแก้ไข ประกาศ คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าด้วยรูปแบบและวิธีการแสดงข้อความคำเตือนฯ พ.ศ.2553 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน มีข้อความที่กระชับ เข้าใจง่ายต่อเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังมีการบังคับใช้แล้วมากว่า 2 ปี ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ โดยให้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาของประกาศ คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าด้วยรูปแบบและวิธีการแสดงข้อความคำเตือนฯ พ.ศ.2553 ทั้งฉบับ โดยแก้ไขเนื้อหาสาระสำคัญ คือ “พื้นที่กรอบข้อความคำเตือนต้องเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของพื้นที่โฆษณา” แก้เป็น “ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่โฆษณา” ส่วนการแสดงข้อความคำเตือน ให้แสดงอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ 1.“สุรา เป็นเหตุก่อมะเร็งได้” 2.“สุรา เป็นเหตุให้สมองเสื่อมได้” และ 3.“สุรา เป็นเหตุให้พิการได้” ขณะที่ข้อความคำเตือนที่บังคับใช้ในปัจจุบัน คือ 1.“สุรา เป็นเหตุก่อมะเร็งได้” 2.“สุรา เป็นเหตุให้เซ็กซ์เสื่อมได้” 3.“สุรา เป็นเหตุให้พิการและเสียชีวิตได้” 4.“สุรา เป็นเหตุทะเลาะวิวาทและอาชญากรรมได้” และ 5. “สุรา ทำร้ายครอบครัว ทำลายสังคมได้”
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งที่มีการปรับข้อความคำเตือนใหม่ เนื่องจากได้มีการรายงานในการประชุม ว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย พบว่า ข้อความที่ระบุว่า “สุรา เป็นเหตุให้เซ็กซ์เสื่อมได้” “สุรา เป็นเหตุทะเลาะวิวาทและอาชญากรรมได้” และ “สุรา ทำร้ายครอบครัว ทำลายสังคมได้” เป็นคำเตือนที่ไม่น่ากลัว เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่ไม่รับผิดชอบ ทั้งยังเห็นว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ โดยหลังจากนี้จะมีการนำเข้าพิจารณาใน คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประกาศใช้ต่อไป
วันนี้ (9 ม.ค.) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการประชุมคณะอนุกรรมการร่างกฎกระทรวง ประกาศ และระเบียบ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ครั้งที่ 1/2556 ได้มีการพิจารณาทบทวนร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ....” ตามที่ที่ประชุมผู้บริหารกรมควบคุมโรคได้เสนอนั้น ที่ประชุมมีมติว่า ควรยืนยันหลักการเดิมตามร่างประกาศสำนักนายกฯดังกล่าว คือ ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ยกเว้นที่ส่วนบุคคล เนื่องจากผลเสียของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าด้วยรูปแบบและวิธีการแสดงข้อความคำเตือนประกอบภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือภาพสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. .... (ฉบับที่ 2) เนื่องจากควรมีการปรับปรุงแก้ไข ประกาศ คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าด้วยรูปแบบและวิธีการแสดงข้อความคำเตือนฯ พ.ศ.2553 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน มีข้อความที่กระชับ เข้าใจง่ายต่อเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังมีการบังคับใช้แล้วมากว่า 2 ปี ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ โดยให้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาของประกาศ คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าด้วยรูปแบบและวิธีการแสดงข้อความคำเตือนฯ พ.ศ.2553 ทั้งฉบับ โดยแก้ไขเนื้อหาสาระสำคัญ คือ “พื้นที่กรอบข้อความคำเตือนต้องเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของพื้นที่โฆษณา” แก้เป็น “ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่โฆษณา” ส่วนการแสดงข้อความคำเตือน ให้แสดงอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ 1.“สุรา เป็นเหตุก่อมะเร็งได้” 2.“สุรา เป็นเหตุให้สมองเสื่อมได้” และ 3.“สุรา เป็นเหตุให้พิการได้” ขณะที่ข้อความคำเตือนที่บังคับใช้ในปัจจุบัน คือ 1.“สุรา เป็นเหตุก่อมะเร็งได้” 2.“สุรา เป็นเหตุให้เซ็กซ์เสื่อมได้” 3.“สุรา เป็นเหตุให้พิการและเสียชีวิตได้” 4.“สุรา เป็นเหตุทะเลาะวิวาทและอาชญากรรมได้” และ 5. “สุรา ทำร้ายครอบครัว ทำลายสังคมได้”
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งที่มีการปรับข้อความคำเตือนใหม่ เนื่องจากได้มีการรายงานในการประชุม ว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย พบว่า ข้อความที่ระบุว่า “สุรา เป็นเหตุให้เซ็กซ์เสื่อมได้” “สุรา เป็นเหตุทะเลาะวิวาทและอาชญากรรมได้” และ “สุรา ทำร้ายครอบครัว ทำลายสังคมได้” เป็นคำเตือนที่ไม่น่ากลัว เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่ไม่รับผิดชอบ ทั้งยังเห็นว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ โดยหลังจากนี้จะมีการนำเข้าพิจารณาใน คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประกาศใช้ต่อไป