กลุ่มสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการฯ และชมรมผู้บริหารฯ ตบเท้าเข้า ศธ.ไม่ได้นัดหมายยื่นข้อเรียกร้องดูแลให้ได้รับเงินเดือน 15,000 บาทตามนโยบายรัฐ ขณะที่ชมรมผู้บริหารวอนดูแลการบรรจุตำแหน่ง ขู่ 31 ม.ค.56 ไม่มีคำตอบจะมาอีก ส่วน สพฐ.แจงกรณีเงินเดือนรอ ครม.หยิบเข้าพิจารณา ด้าน “เสริมศักดิ์” รับปากเร่งติดตามให้
วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยทั้ง 4 ภูมิภาค ประมาณ 100 คน นำโดย นายวิชธพงศ์ พุ่มบุญภาคย์ ประธานสมาพันธ์ฯ เข้ายื่นหนังสือต่อนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา โดยมี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับหนังสือ โดย นายวิชธพงศ์ กล่าวว่า ตามที่มีโครงการคืนครูให้นักเรียนเพื่อให้ครูไปปฏิบัติหน้าที่การสอนอย่างเต็มที่ไม่ต้องมีภาระงานธุรการ จึงได้มีการจ้างพวกตนซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมาปฏิบัติหน้าที่ธุรการในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขณะเดียวกัน พวกตนก็ต้องทำหน้าที่การสอนด้วย ซึ่งทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 14,532 คน ได้รับเงินเดือน 9,140 บาท เมื่อหักเงินสมทบประกันสังคมจะก็จะเหลือทั้งสิ้น 8,720 บาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มค่าครองชีพให้ผู้จบ ป.ตรี ได้รับเงินเดือน 15,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่าย เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2555 นั้น พวกตนก็ไม่ได้รับสิทธิ์ จึงอยากเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เห็นชอบกรณีเพิ่มค่าครองชีพลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีวุฒิปริญญาตรี ให้ได้การเพิ่มค่าครองชีพเป็น 15,000 บาท ตามนโยบายรัฐบาลที่ได้ชี้แจงได้อย่างชัดเจน รวมถึงขอให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานครบอายุงาน 3 ปี มีสิทธิ์สอบเป็นข้าราชการตำแหน่ง นักจัดการงานทั่วไป ขณะเดียวกันข อให้ดูแลสวัสดิการเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกัน ชมรมผู้บริหารสถานศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 20 คน นำโดย นายธรรมรัตน์ ธรรมพุทธวงศ์ เลขานุการชมรมฯ เดินทางมายื่นหนังสือถึง รมว.ศึกษาธิการ พร้อมกล่าวว่า พวกตนเป็นกลุ่มข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สอบผ่านในตำแหน่ง ผอ.โรงเรียน และผ่านการอบรมพัฒนาเข้าสู่ตำแหน่งแล้ว และมีชื่อขึ้นบัญชีไว้จำนวน 724 คน เป็นเวลากว่า 8 เดือนแล้ว และไม่ได้รับการเรียกให้บรรจุลงตำแหน่งทั้งที่มีตำแหน่งว่างในหลายโรงเรียน อันเนื่องจากนโยบายของ สพฐ.ที่ระบุว่า หากโรงเรียนมีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน จะไม่บรรจุแต่งตั้งผอ.โรงเรียน แต่นโยบายดังกล่าวนี้ไม่ได้ระบุในหนังสือคำสั่ง สพฐ.ที่ด่วนที่สุด ศธ.04009/ว 1418 วันที่ 26 มี.ค.2555 ซึ่งนโยบายนี้ทำให้พวกตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ในขณะที่กลุ่มที่ขึ้นบัญชีไว้ในเขตพื้นที่การศึกษากลับได้รับการบรรจุตำแหน่งทั้งที่ในโรงเรียนที่ไปบรรจุมีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน อย่างไรก็ตาม อยากเรียกร้องให้ สพฐ.ยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงนโยบายการไม่บรรจุและแต่งตั้งดังกล่าว และออกแนวปฏิบัติเป็นบรรทัดเดียวกันทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ขอให้ สพฐ.เร่งรัดการบรรจุตำแหน่งและกำหนดปฏิทินเวลาการบรรจุตำแหน่งและการรับย้ายที่ชัดเจนเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติทั่วประเทศ ทั้งนี้ รมช.ศึกษาธิการ รับปากว่า จะดำเนินการให้ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งพวกตนจะคอยฟังคำตอบและจะให้เวลา 1 เดือนหากวันที่ 31 ม.ค.2556 ยังไม่มีคำตอบชัดเจนจะเดินทางมาอีกครั้ง
ด้าน นายรังสรรค์ มณีเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ.กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของสมาพันธ์เจ้าหน้าธุรการฯ นั้น ในเรื่องค่าครองชีพ สพฐ.ได้ดำเนินการเสนอขอตั้งงบประมาณไปแล้วตั้งแต่ 1 ม.ค.2555 แต่กรมบัญชีกลาง ตีความว่า กรณีนี้ไม่อยู่ในรายรับของ สพฐ.จึงได้เสนอ ครม.โดยตั้งงบประมาณปี 2556 ไว้ 2 อัตราสำหรับผู้จบ ป.ตรีให้ได้รับเงิน 15,000 บาท และสำหรับผู้มีรายได้ไม่ถึง 9,000 บาท ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวน 3,000 ล้านบาท ซึ่งรวมเงินตกเบิกย้อนหลังด้วย ส่วนที่เรื่องที่ขอให้สิทธิ์สอบนั้น ความจริงแล้วกลุ่มนี้สามารถสมัครสอบครูที่เปิดทั่วไปได้ เพียงแต่ที่เขาต้องการคือให้ได้รับสิทธิ์เพื่อสมัครสอบบรรจุข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีพิเศษ ซึ่งไม่สามารถทำได้ เพราะ สพฐ.เคยมีหนังสือว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่ธุรการไม่มีหน้าที่ในการสอน ดังนั้น คุณสมบัติของกลุ่มนี้จึงไม่ตรงกับหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด
ส่วนกรณีของกลุ่มชมรมผู้บริหารฯ นั้น นายรังสรรค์ กล่าวว่า กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เปิดสอบพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งเป็นตามนโยบายของ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.ศึกษาธิการ โดยความจริงแล้วมีผู้ขึ้นบัญชีไว้ 2 ปี จำนวน 777 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ 365 คน และกลุ่มทั่วไป 412 คน ซึ่งได้ทยอยบรรจุไปแล้ว 143 คน ดังนั้น กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มสำรองที่ยังไม่ได้รับเรียกบรรจุแต่มีความห่วงใย อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารกลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแล เพราะถือว่าประกาศ สพฐ.ที่เปิดสอบครั้งนั้นไม่ได้มีการระบุเงื่อนไขว่าหากโรงเรียนมีนักเรียนต่ำกว่า 60 คนจะไม่บรรจุแต่งตั้งผอ.โรงเรียนไว้
ด้าน นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า ตนจะไปเร่งรัดติดตามให้ทั้ง 2 กรณีเพราะว่าพวกครูเดือดร้อนมาขอความช่วยเหลือก็ต้องดูแล ซึ่งเบื้องต้นจะไปติดตามกรณีของสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการฯ ที่ สพฐ.ได้เสนอเรื่องไปแล้วและรอการพิจารณาใน ครม.