“ลีวายส์” แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นยักษ์ใหญ่ของโลก ได้ประกาศอย่างเป็นทางการที่จะยุติการใช้สารเคมีอันตรายตลอดห่วงโซ่การผลิตผลิตภัณฑ์ของตนภายในปี พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของผู้บริโภคจากโครงการรณรงค์ “ล้างสารพิษ (Detox)” ของกรีนพีซ
พลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ตอนนี้แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นลีวายส์ ได้รับฟังความเห็นของคนส่วนใหญ่แล้วที่จะผลิตเสื้อผ้าที่ปลอดสารพิษ ถึงเวลาแล้วที่แบรนด์ใหญ่ อื่นๆ ต้องเดินตาม เช่น คาลวิน ไคลน์ (Calvin Klein) แก็ป (Gap) และ วิคตอเรีย ซีเคร็ท (Victoria’s Secret) ที่จะต้องหยุดการสะสมสารพิษในเสื้อผ้าที่ผลิตเสียที และเราจะเดินหน้าเปิดเผยแบรนด์เสื้อผ้าอื่นๆ จนกว่าการใช้สารพิษและลักลอบการใช้สารอันตรายถูกกำจัดโดยสิ้นเชิง
ทั้งนี้ ลีวายส์ได้สั่งให้โรงงานผลิตที่ใหญ่ที่สุดของตัวเอง 15 แห่ง ในประเทศจีน เม็กซิโก และอื่นๆ ในประเทศซีกโลกใต้ ต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยสารพิษภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 และจากแหล่งการผลิตหลักของลีวายส์อีก 25 แห่งภายในสิ้นปี พ.ศ.2556 ซึ่งหมายความว่า ประชาชนจะอยู่ใกล้บริเวณโรงงานผลิตเหล่านี้จะสามารถเข้าถึงข้อมูลการปล่อยมลพิษจากโรงงานเหล่านี้สู่สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเอง
คำประกาศเข้าร่วมล้างสารพิษของลีวายส์ได้มีขึ้นภายใน 8 วัน หลังจากกรีนพีซได้มีการเปิดเผยข้อมูลในรายงาน “Toxic Threads: Under Wraps” ที่ประเทศเม็กซิโก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนั้น ได้มีผู้ลงรายชื่อสนับสนุนเรียกร้องมากกว่า 400,000 คนทั่วโลกผ่านทางเว็บไซต์ กับอีกหลายหมื่นคนที่เรียกร้องผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ รวมถึงมีนักกิจกรรมกว่า 700 คนทั่วโลก ร่วมกันออกมาแสดงกิจกรรมสื่อสารเชิงสัญลักษณ์หน้าร้านขายสินค้าลีวายส์ใน 80 เมืองทั่วโลก
ลีวายส์นับเป็นแบรนด์ที่ 11 ที่ได้เข้าร่วมโครงการล้างสารพิษที่จะยุติการใช้สารเคมีอันตรายตลอดห่วงโซ่การผลิตหลังจากที่กรีนพีซได้เริ่มรณรงค์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 โดยหลักการสำคัญของคำประกาศการยุติการใช้สารพิษครั้งนี้ คือ ลีวายส์จะกำจัดสารเปอร์ฟลูออริเนท คอมพาวด์ (Perfluorinated compound : PFC) ทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2558 ทั้งนี้สาร PFC เป็นสารที่ใช้ในสิ่งทอในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อเป็นวัสดุกันน้ำ โดยสารเคมีชนิดนี้คงทนจึงสะสมได้ในระบบชีวภาพ
กรีนพีซเรียกร้องให้เสื้อผ้าแบรนด์ต่างๆ เข้าร่วมโครงการ “ล้างสารพิษ (Detox)” โดยให้แสดงเจตจำนงในการบรรลุเป้าหมาย “การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์” และกำหนดให้โรงงานผลิตการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับชนิดและปริมาณการปลดปล่อยสารเคมีอันตรายจากโรงงานสู่ชุมชนและแหล่งน้ำ