สธ.ตรวจวิเคราะห์กาวติดเล็บปลอม พบสารเคมี เอธิล ทู ไซยาโนอะคริเลต หรือ ซูเปอร์กลู เป็นส่วนประกอบหลักที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ต่อผู้ใช้ แนะผู้ให้บริการและผู้รับบริการขณะต่อเล็บให้ใช้ผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันไอระเหยที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ
นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การต่อเล็บปลอมทั้งที่ทำจากสารเคมี และเล็บปลอมที่ทำจากพลาสติกนั้นกำลังเป็นที่นิยม ในประเทศไทย เล็บปลอมที่ทำขึ้นจากสารเคมี เป็นเล็บปลอมที่ไม่มีลวดลาย ต้องทำที่ร้านทำเล็บโดยผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในการเขียนรูป การขึ้นรูป ซึ่งจะมีราคาสูง ส่วนเล็บปลอมที่ทำจากพลาสติกส่วนใหญ่จะมีลวดลายอยู่แล้ว ราคาไม่แพง สามารถหาซื้อได้จากร้านค้าทั่วไป ทำได้ด้วยตัวเองโดยการนำเล็บปลอมมาติดกับเล็บจริง และใช้กาวเป็นตัวเชี่อมติด การต่อเล็บปลอม ที่ทำจากแผ่นพลาสติกโดยใช้กาวเชื่อมติดกับเล็บจริงนั้น อาจเกิดอันตรายต่อผู้ให้บริการและผู้รับบริการได้ เนื่องจากกาวที่ใช้เชื่อมติดเป็นกาวสังเคราะห์มีสาร ethyl-2-cyanoacrylate (เอธิล ทู ไซยาโนอะคริเลต) ซึ่งเป็นสารที่ใช้ยึดติดแบบแห้งเร็ว รู้จักกันในชื่อ ซูเปอร์กลู เป็นส่วนประกอบหลัก ที่อาจทำให้ผู้สัมผัสสารนี้เกิดการแพ้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไวต่อสารเคมี และไอระเหยยังทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตาและทางเดินหายใจ
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า จากการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งได้ทำการวิเคราะห์หาปริมาณเอพิว ทู ไซยาโนอะคริเลต ในกาวติดเล็บปลอมที่ทำจากแผ่นพลาสติก จำนวน 23 ตัวอย่าง พบ เอธิล ทู ไซยาโนอะคริเลต จำนวน 21 ตัวอย่าง มีปริมาณในช่วงร้อยละ 0.20-99 โดยน้ำหนัก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กฎหมายไทย ยังไม่มีการควบคุมหรือกำกับปริมาณการใช้สารเอธิล ทู ไซยาโนอะคริเลต ในผลิตภัณฑ์กาวที่ใช้ในการติดเล็บปลอม มีแต่การควบคุมปริมาณ formaldehyde (ฟอร์มัลดีไฮด์) ในผลิตภัณฑ์สำหรับเล็บ ดังนั้น การตรวจวิเคราะห์ครั้งนี้จึงทำให้ทราบปริมาณสารเคมีในผลิตภัณฑ์กาวติดเล็บปลอม ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะนำไปสู่การออกกฎหมายควบคุมปริมาณสารเคมีที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้บริโภคต่อไป
สำหรับข้อควรระมัดระวังในการติดเล็บปลอมไม่ว่าจะทำเองที่บ้านเข้าร้านเสริมสวย หรือร้านทำเล็บ คือ เรื่องการหมักหมมของสิ่งสกปรกและเชื้อโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเล็บปลอมที่หลุดออกแล้วนำมาติดทับใหม่โดยไม่ทำความสะอาดให้ดีเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย อาจเจริญเติบโตระหว่างชั้นเล็บ ทำให้ผิวหนังอักเสบ ดังนั้นผู้ให้บริการควรหมั่นดูแล รักษาความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์เป็นประจำ ซึ่งจะเป็นการช่วยป้องกันเชื้อโรค ได้อีกทางหนึ่ง และขณะต่อเล็บทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการควรใช้ผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันการสูดดมสารเคมี