พลิกโผ! ผลสำรวจชี้วัยโจ๋เสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศในคืนลอยกระทงมากกว่าวาเลนไทน์ เผย 38% มักเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน เหตุน้ำเมาเป็นตัวกระตุ้นพฤติกรรมผู้ชายกล้าจีบ กล้าฉุดผู้หญิง นักวิชาการวอนทำตัวเป็นสุภาพบุรุษ ไม่ฉวยโอกาส ไม่พิสูจน์ความรักด้วยการมีเซ็กซ์ แนะผู้หญิงรู้จักปฏิเสธ ไม่ไปที่สุ่มเสี่ยง เตือนธุรกิจน้ำเมาละเว้นประเพณีที่ดีงาม
วันนี้ (27 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร น.ส.หทัยทิพย์ ชัยฤกษ์ แกนนำเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวระหว่างการเสวนา “ถอดรหัสลอยกระทง เสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศมากกว่าวาเลนไทน์” ในการจัดกิจกรรมรณรงค์ “ดื่มไม่ลอย...ไม่เสี่ยงล่วงละเมิดทางเพศ” ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า จากการสำรวจ “วัยรุ่นไทยกับประเพณีลอยกระทงและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ของมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนาและมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จำนวน 1,042 กลุ่มตัวอย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการพบว่า ร้อยละ 82 เคยเห็นเพื่อนในวัยเดียวกันดื่มสุราวันลอยกระทง เมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นนิยมดื่มสุราในวันลอยกระทงพบว่า เป็นเพราะบรรยากาศชวนดื่ม รองลงมาคือเพื่อนชวน ดื่มเพราะดึงดูดเพศตรงข้าม มีบริการจากผู้จัดงาน และเพิ่มโอกาสการมีเพศสัมพันธ์ ตามลำดับ
น.ส.ทหัยทิพย์ กล่าวอีกว่า เมื่อถามถึงเทศกาลใดมีโอกาสนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นมากที่สุด ร้อยละ 40 ระบุว่า เทศกาลลอยกระทง รองลงมา คือวันวาเลนไทน์ ร้อยละ 28 วันสงกรานต์ ร้อยละ 17 วันขึ้นปีใหม่ ร้อยละ 8 และวันหยุดทั่วไป ร้อยละ 7 นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่าง 1 ใน 3 หรือร้อยละ 38 ระบุว่า เคยพบเห็น หรือเคยทราบว่าปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศมักจะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในวันลอยกระทง อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 61 เห็นว่า การดื่มสุราเป็นปัจจัยเสริมสำคัญที่ทำให้เกิดการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และร้อยละ 72 เห็นด้วยหากสถานที่จัดงานลอยกระทงปีนี้ ไม่มีการขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายสุเทพ สดชื่น ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า สาเหตุที่คืนลอยกระทงมีความเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศมากกว่าเทศกาลวาเลนไทน์ เป็นเพราะมีปัจจัยเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่สำคัญ เป็นเรื่องของกรอบความคิดในแบบผู้ชายด้วย คือ ทัศนะชายเป็นใหญ่ ซึ่งเด็กและเยาวชนชายมักจะถูกผลิตซ้ำทางความคิดในเรื่องนี้จากผู้ใหญ่ ระบบการศึกษาไทยยังให้ความสำคัญน้อยมากในเรื่องมิติหญิงชาย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในขณะที่สื่อ ละคร ภาพยนตร์ก็มีส่วนหล่อหลอมความคิดที่เป็นปัญหา รวมไปถึงแนวคิดที่ว่าการมีผู้หญิงเยอะหมายถึงการเป็นยอดชาย จะได้การยอมรับจากลูกผู้ชายด้วยกัน แม้ผู้ชายทุกคนจะไม่ได้มีความคิดแบบนี้ แต่ยอมรับว่า ยังมีความคิดแบบนี้อยู่ภายในสังคม ประกอบกับการพูดคุยในวงเหล้าทำให้กล้าวิจารณ์ผู้หญิง กล้าเข้าไปจีบ กล้าเข้าไปหาโอกาสมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น ทำให้คืนลอยกระทงมีความเสี่ยงในการเสียตัวมากกว่าวันวาเลนไทน์ ซึ่งมีหลายฝ่ายคอยจับตาพฤติกรรมดังกล่าว
“นอกจากนี้ เทศกาลลอยกระทงเป็นประเพณีที่จัดในตอนกลางคืน มีโอกาสที่ชายและหญิงจะได้เจอกันและไปมีเพศสัมพันธ์กันง่ายขึ้น ผู้ชายบางรายอาจมีการดื่มเหล้าย้อมใจแล้วพาผู้หญิงไปลอยกระทงในคลองที่เปลี่ยวหรือแคบๆ ก็ทำให้เกิดโอกาสการเสียตัวง่ายเช่นกัน” นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า วิธีที่จะป้องกันตัวเองได้ดีที่สุดคือการไม่ยุ่งเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผู้ที่ดื่ม หรือไม่ไปกับคนแปลกหน้า โดยเฉพาะวัยรุ่นควรไปลอยกระทงกันเป็นกลุ่มไม่ไปในพื้นล่อแหลมสุ่มเสี่ยง ส่วนผู้ชายอยากเรียกร้องให้ไม่ฉวยโอกาส ไม่พิสูจน์ความรักด้วยการมีเพศสัมพันธ์ ต้องให้เกียรติผู้หญิงทั้งที่เป็นแฟนและคนที่ไม่ใช่แฟน ดังนั้น จึงอยากให้เด็กและเยาวชน ช่วยกันรักษาประเพณีอันดีงามนี้ไว้ และรู้จักปฏิเสธเมื่อมีโอกาสสุ่มเสี่ยง ส่วนบรรดาผู้ใหญ่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆลงและปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องไม่ใช่พอเห็นปัญหาก็โทษเด็กหรือเฝ้าจับผิดกันตามโรงแรมม่านรูด ซึ่งแก้ปัญหาไม่ได้
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ลอยกระทงในปีนี้อยากรณรงค์ให้คนไทยทุกคน “ดื่มไม่ลอย ลอยไม่ดื่ม” เพราะลอยกระทงเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม แต่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดเป็นอบายมุข เป็นสาเหตุแห่งความเสื่อม จึงถือเป็นเรื่องตรงข้ามกัน ไม่ควรนำมาข้องเกี่ยวกัน ยิ่งสมัยนี้จะเห็นได้ว่าจากลานวัฒนธรรมที่ดีงามต่างๆ กลายเป็นลานเหล้า ลานเบียร์ เกือบหมดแล้ว ดังนั้น หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ควรลอยกระทง เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุตกน้ำรับรองว่าจมน้ำแน่นอน นอกจากนี้ การลอยกระทงเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ซึ่งควรทำด้วยความมีสติปัญญา มีความสำนึกอย่างแท้จริง แต่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้ขาดสติ ของมึนเมา และประเพณีที่ดีงามจึงไม่ควรนำมาเกี่ยวข้องกัน
“หากประเพณีที่ดีงามเปลี่ยนไปกลายเป็นเทศกาลที่มีแต่ของมึนเมา เชื่อว่ากระทบการท่องเที่ยวแน่นอน เพราะต่างชาติอยากเข้ามาเห็นประเพณีที่ดีงามที่หาไม่ได้ในโลกจากไทย ดังนั้น ทุกคนจึงควรช่วยกันรณรงค์และรักษาประเพณีที่ดีงามเอาไว้ โดยเฉพาะกระทรวงการท่องเที่ยวฯที่ต้องเร่งออกมารณรงค์ เพราะที่ผ่านมาก็จะมีข่าวเสื่อมเสียทำนองเมาเหล้าแล้วข่มขืนนักท่องเที่ยว ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย ที่สำคัญ ธุรกิจน้ำเมาไม่จำเป็นต้องไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมอะไรมากมาย ขอแค่รักษากฎหมายและช่วยรักษาประเพณีที่ดีงามไว้ก็พอ” ผอ.สำนักงานเครือข่ายงดเหล้า กล่าว