xs
xsm
sm
md
lg

“ล่าแม่มด” บนโลกออนไลน์ ใคร...คือเหยื่อสังคม?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

หากพูดถึงการล่าแม่มด หลายคนอาจนึกถึงประวัติศาสตร์ยุโรปในช่วงยุคกลาง หรือที่เรียกว่า ยุคมืด ที่มีการจับหญิงชรา หรือสาวสวยจำนวนมาก มาเผาประจานอย่างโหดเหี้ยมด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นแม่มด แต่รู้หรือไม่...ทุกวันนี้ยังคงมี “ปรากฏการณ์ล่าแม่มด” อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนโลกออนไลน์

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ กรณี แพรวา 9 ศพ” ที่ถูกเครือข่ายสังคมออนไลน์ลากไส้ ขุดคุ้ยประวัติ จนมีผู้คนนับแสนเข้ามาแสดงความเห็นอย่างเคียดแค้น เสมือนพิพากษา “แพรวา” ให้ตกเป็นจำเลยของสังคมโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม หรือกรณีของ “มาร์ค V11” แห่งบ้าน AF7 ที่ถูกสังคมออนไลน์แฉเรื่องโพสต์ข้อความด่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สุดท้ายจึงต้องออกจากบ้าน AF ไปตั้งแต่วีกแรกๆ

ปรากฏการณ์ดังกล่าว นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรรายการแบไต๋ไฮเทค อธิบายว่า เป็นการลงทัณฑ์ทางภาคสังคมในกลุ่มคนที่มีความคิดแตกแยก หรือไม่เห็นด้วยจากคนหมู่มาก ซึ่งมีพื้นฐานมาจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรู้สึกว่าตัวเองเป็นไม้บรรทัดมองโลก หากเกิดความไม่พอใจ ไม่ถูกใจ หรือรับไม่ได้ ก็จะแสดงออกด้วยการเขียนข้อความ โต้ตอบ ต่อว่า หรือด่าทอทันที และเมื่อเกิดการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีความไม่พอใจในเรื่องเดียวกัน ก็จะกลายเป็นการล่าแม่มดในโลกออนไลน์ไปโดยปริยาย

“อย่างการรับข่าวสารบนโลกออนไลน์ บางคนอ่านเพียงหัวข้อข่าว ไม่อ่านรายละเอียดทั้งหมด ก็รีบเข้าไปคอมเมนต์ด่า สะท้อนว่า ทุกวันนี้สังคมไทยอ่านหนังสือน้อย ทำให้สงครามความคิดเกิดขึ้นทุกวัน ความคิดเห็นของคนกลุ่มน้อยก็จะถูกล่าจากความคิดเห็นของคนกลุ่มมาก แต่ต้องยอมรับว่า พฤติกรรมดังกล่าวทำให้ผู้ใช้มีเสียงที่ดังขึ้นในสังคม หากนำมาใช้ในทางที่ดีก็จะเกิดประโยชน์มากกว่านำมาทำร้ายซึ่งกันและกัน ซึ่งมองว่าเป็นสังคมที่ไม่น่ารักเลย” พิธีกรรายการดัง กล่าว

ส่วนในมุมมองของจิตแพทย์ พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชลี ธีระวงศ์ไพศาล รองโฆษกประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่า การล่าแม่มดในสังคมออนไลน์ มีสาเหตุมาจากคนหมกมุ่นกับโซเชียลเน็ตเวิร์ก มากเกินไป และโดยพื้นฐานของมนุษย์นั้นมีความรุนแรงในตัวอยู่แล้ว เมื่อเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ก็จะมีความยับยั้งชั่งใจน้อยกว่าในชีวิตจริงและกล้าแสดงออกมากขึ้น

พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชลี กล่าวอีกว่า ทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่าต้องไม่ตกเป็นเหยื่อทางอารมณ์ของตัวเอง ผู้ล่าต้องไม่ตัดสินคนที่มีความคิดไม่เหมือนเรา แต่ควรตั้งสติ มีวิจารณญาณกลั่นกรอง ให้เกียรติคนรอบข้าง และยอมรับตัวตนของอีกฝ่าย ขณะที่ผู้ถูกล่าต้องไม่โพสต์ข้อความใดๆ โต้ตอบขณะมีอารมณ์ เพราะอาจส่งผลกระทบในทางที่เลวร้ายมากขึ้น แต่ควรหาที่สงบเพื่อทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ดึงตัวเองออกมาแล้วใช้สติปัญญาที่มีพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้น

“ทั้งพฤติกรรมล่าแม่มดในโลกออนไลน์ และการรังแกผ่านโลกไซเบอร์ ทุกคนเป็นเหยื่อของอารมณ์ตัวเอง เป็นเหยื่อของสังคม เนื่องจากทุกคนหลงอยู่ในสังคมออนไลน์มากเกินไป จนบางคนสูญเสียความเป็นตัวตน สูญเสียสัมพันธภาพกับคนรอบตัว บางคนหมดความมั่นใจในตัวเอง เนื่องจากถูกด่าทอผ่านสังคมออนไลน์ ทางออกคือต้องแยกตัวตนระหว่างชีวิตจริงและสังคมออนไลน์ให้ได้ อย่าแคร์คำพูดของคนอื่น เพราะเขาไม่ได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของเรา” รองโฆษก สตช.กล่าว

เมื่อมองในแง่ของกฎหมาย พฤติกรรมการล่าแม่มดบนโลกออนไลน์ ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายหรือไม่ นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดด้านคอมพิวเตอร์ อธิบายว่า ผิดกฎหมายแน่นอน เพราะมีการให้ข้อมูลที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เข้าข่ายหมิ่นประมาท ผิดมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถือเป็นคดีอาญาที่ยอมความกันไม่ได้ แต่คนทั่วไปยังเชื่อว่าเมื่อทำผิดแล้วจับตัวไม่ได้และไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาได้ ซึ่งความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ สามารถตรวจเช็กนำตัวมาลงโทษได้ แต่ปัญหาคือเจ้าหน้าที่มีน้อยกว่าจำนวนผู้กระทำผิดมาก

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการกดไลก์หรือการแชร์ข้อมูลที่เข้าข่ายการล่าแม่มดนั้นไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นเสรีภาพในการแสดงออก แต่หากแชร์แล้วมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมนั้นถือว่ามีความผิดด้วยเช่นกัน วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาคือต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ ต้องพึงระลึกเสมอว่า การทำความผิดบนโลกออนไลน์สามารถตรวจเช็กได้ และที่สำคัญโลกออนไลน์เป็นแหล่งความรู้ชั้นดี เป็นเครื่องมือที่ดี แต่ต้องระมัดระวังในการใช้...เพราะสุดท้ายอาจเป็นมหันตภัยกลับเข้ามาทำร้ายตัวเราเองได้!
กำลังโหลดความคิดเห็น