มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ (Marks & Spencer: M&S) เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ได้ประกาศจุดยืนยกเลิกการใช้และปลดปล่อยสารเคมีอันตรายทุกชนิดตลอดห่วงโซ่การผลิตของผลิตภัณฑ์ตนภายในปี พ.ศ.2563 (1) เพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของกรีนพีซ ในโครงการรณรงค์ “Detox” หรือ “ล้างสารพิษ” ที่รณรงค์อย่างต่อเนื่องทั่วโลก
มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ เป็นแบรนด์ลำดับที่เจ็ดที่ได้ประกาศยกเลิกการใช้และปลดปล่อยสารเคมีอันตรายตลอดห่วงโซ่การผลิตของผลิตภัณฑ์ของตน ในการแสดงความรับผิดชอบดังกล่าวนั้น มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ ยังได้สนับสนุนการเลิกใช้สารในกลุ่มอัลคีฟีนอล (2) และยังให้คำมั่นว่าจะกำหนดแผนการระยะสั้นในการหยุดใช้สารเคมีอันตรายชนิดอื่นๆ และแสดงจุดยืนเรื่องความโปร่งใสในการรายงานข้อมูลมลพิษ โดยจะเริ่มแสดงข้อมูลจากโรงงานทั้งห้าโรงที่บริษัทใช้ในการผลิตที่ประเทศจีน
“ผู้ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์ต่างๆ มีส่วนในการปล่อยสารพิษลงสู่แหล่งน้ำทั่วโลก เสมือนว่าแหล่งน้ำสาธารณะเหล่านี้เป็นที่ทิ้งน้ำเสียส่วนบุคคล” นายมาร์ทิน โฮจ์ซิก กล่าว “เรายินดีที่มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ ได้ประกาศจุดยืนในการยุติการปลดปล่อยสารเคมีอันตรายโดยยึดหลักโปร่งใส และเราจะติดตามการปฏิบัติดังกล่าวอย่างใกล้ชิด”
ในคำประกาศดังกล่าว มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ ได้เริ่มดำเนินการก้าวสำคัญในการยุติการใช้สารพีเอฟซี (PFC’s) ทั้งหมดให้ได้ก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าสารเคมีดังกล่าวที่ใช้ในการทำสีและใช้เคลือบเสื้อผ้ากันน้ำนั้น เป็นสารเคมีอันตราย
ปี พ.ศ.2554 กรีนพีซได้แสดงหลักฐานให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างจำนวนกลุ่มผู้ผลิตเสื้อผ้าชั้นนำ และโรงงานฟอกย้อมในประเทศจีน ว่า มีการปล่อยสารเคมีอันตรายลงสู่แหล่งน้ำ กรีนพีซเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าและรัฐบาลทั่วโลกร่วมกันยุติมลพิษ และร่วมกันสร้างอนาคตปลอดสารพิษ
“การแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของ มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ ในครั้งนี้ ได้สร้างมาตรฐานใหม่ของการเป็นผู้นำในเรื่องการแก้ปัญหามลพิษทางน้ำในกลุ่มบริษัทผลิตเสื้อผ้า และต่อจากนี้ไป มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ จะต้องแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น และลงมือปฏิบัติที่แท้จริง ซึ่งปัญหามลพิษทางน้ำจากอุตสาหกรรมฟอกย้อมและสิ่งทอกำลังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนในปัจจุบัน” นายมาร์ทิน โฮจ์ซิก ผู้ประสานงานรณรงค์โครงการ Detox (ล้างสารพิษ) ของกรีนพีซสากล กล่าว
“การที่ มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ ซึ่งเป็นผู้ใช้สารพีเอฟซีรายสำคัญในการผลิตเสื้อผ้านั้น ได้วางแผนยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายดังกล่าวถือเป็นการส่งสารชัดเจนไปยังผู้ผลิตอื่นๆ ที่จะต้องยุติการใช้สารเคมีอันตรายและสารรบกวนฮอร์โมนในผลิตภัณฑ์เช่นกัน ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งประเทศหลักที่เป็นฐานการผลิตสิ่งทอของโลก และขณะเดียวกัน แหล่งน้ำไทยก็ต้องกลายเป็นที่รองรับมลพิษเช่นเดียวกัน ดังนั้น เราจึงควรต้องตื่นตัวกับปัญหาและอุตสาหกรรมฟอกย้อมและสิ่งทอของไทยก็ต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนไปใช้สารเคมีที่มีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมแทนเช่นเดียวกัน” นายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว