กทม.จี้รัฐเร่งอนุมัติเงินสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองบางซื่อ แจงงบสร้าง 2.5 พันล้าน กทม.และรัฐออกคนละครึ่ง ด้าน กทม.เผย อนุมัติงบ 56 รอแล้วแถมได้ผู้รับจ้าง รอ ครม.เห็นชอบรัฐส่งเงินมาเดินหน้าทันทีคาดใช้เวลาสร้าง 3 ปี
นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ถอนวาระการพิจารณาโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าว ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา วงเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท ว่า โครงการดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศค.) และสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว โดยจะใช้งบประมาณของรัฐบาล 50% และ กทม.50% ซึ่งในส่วนของ กทม.ได้อนุมัติงบประมาณประจำปี 2556 ไปแล้ว เหลือเพียงในส่วนของรัฐบาลที่ต้องรอให้ ครม.เห็นชอบพร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณมาได้ และขณะนี้ สนน.ได้ผู้รับจ้างได้แล้ว คาดว่าจะลงนามการก่อสร้างได้ในต้นปี 2556 คาดว่าใช้เวลาการก่อสร้าง 3 ปี จะแล้วเสร็จในปี 2559
ทั้งนี้ โครงการระบายน้ำคลองบางซื่อเป็นอุโมงค์แห่งที่ 2 ต่อจากอุโมงค์พระราม 9 จากโครงการอุโมงค์ทั้งหมด 4 แห่ง โดยรูปแบบก่อสร้างเป็นอุโมงค์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ยาว 6.4 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีจุดรับน้ำ 3 จุด คือ 1.รัชดาฯ ตรงโรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค 2.วิภาวดีฯ และ 3.ตลาด อ.ต.ก.โดยแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ถนนรัชดาภิเษก บริเวณคลองลาดพร้าว ข้างโรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค จากนั้นจะผันน้ำมาตามคลองบางซื่อ ผ่านถนนวิภาวดีฯ ถนนกำแพงเพชร แล้วระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะอุโมงค์นี้จะช่วยดึงน้ำจากคลองลาดพร้าวที่ต่อเชื่อมมาจากคลองสองทางด้านเหนือ ทำให้น้ำระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้น โดยเมื่อโครงการอุโมงค์ยักษ์สร้างเสร็จจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน 5 เขต ประกอบด้วย จตุจักร บางซื่อ ดุสิต ห้วยขวาง และ ดินแดง
นายสัญญา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อุโมงค์ยักษ์อีก 2 แห่ง คือ อุโมงค์บึงหนองบอน ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมออกแบบไว้ให้น้ำระบายลงคลองประเวศบุรีรมย์ แต่ปรับแนวเส้นทางให้ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณคลองบางอ้อที่ถนนบางนาแทน เพื่อไม่ให้น้ำที่ไหลมาจากทางเหนือเอ่อล้นคลองประเวศบุรีรมย์มากเกินไปซึ่งการปรับใหม่นั้นทำให้ระยะทางเพิ่มขึ้นจาก 3 กิโลเมตร เป็น 9.4 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้างเพิ่มจาก 995 ล้านบาท เป็น 4,900 ล้านบาท ส่วนอุโมงค์บางเขนใต้คลองเปรมประชากร อยู่ระหว่างเจรจาขอใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และกรมทางหลวงชนบท