xs
xsm
sm
md
lg

“ไวอะกร้า” กัดฟันลดราคายา หลังไทยผลิต “ซิเดกร้า” ขายเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กำไรหด! “ไวอะกร้า” กัดฟันขอลดราคายา หลัง “ซิเดกร้า” ยาแก้เซ็กซ์เสื่อมสัญชาติไทย ดีเดย์วางขาย 1 ต.ค.นี้ ตามร้านขายยาแผนปัจจุบัน มีราคาถูกกว่า 10 เท่า อย.ปลื้ม ราคายาถูกลงช่วยแก้ปัญหายาปลอมใน 5 ปี พร้อมออกมาตรการเข้ม ต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น ถึงซื้อได้

วันนี้ (26 ก.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวระหว่างแถลงข่าวแนวทางในการแก้ปัญหายาปลอมในกลุ่มยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ว่า ขณะนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ขอขึ้นทะเบียนผลิตยาสามัญของยาซิเดนาฟิล ซึ่งเป็นยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย และผ่านการรับขึ้นทะเบียนตำรับยากับ อย.แล้ว โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า “ซิเดกร้า” โดยยาดังกล่าวมีลักษณะเป็นยาเม็ดเคลือบสีฟ้ารูปข้าวหลามตัด บรรจุแผงละ 4 เม็ด แบ่งเป็น 2 ขนาด ได้แก่ ขนาด 50 มิลลิกรัม จำหน่ายในราคาเม็ดละ 25 บาท หรือราคาแผงละ 100 บาท และขนาด 100 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละ 45 บาท หรือราคาแผงละ 180 บาท ซึ่งมีราคาถูกกว่ายาต้นแบบจากต่างประเทศกว่า 10 เท่า โดยจะวางจำหน่ายในเดือน ต.ค.นี้ สำหรับราคายาที่ใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่รู้จักกันดี คือ “ไวอะกร้า” บรรจุแผงละ 4 เม็ด จำหน่ายในราคาแผงละประมาณ 2,100 บาท สำหรับขนาด 100 มิลลิกรัม และราคา 1,600 บาท สำหรับขนาด 50 มิลลิกรัม
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า การที่ อภ.ผลิตยาดังกล่าวได้เองนั้น ส่งผลให้ทาง บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตยาไวอะกร้า ทำหนังสือแจ้งมายัง อย.ว่า มีความประสงค์ในการลดราคาขายปลีกยาไวอะกร้าลงร้อยละ 30 สำหรับยาแผงขนาด 100 มิลลิกรัม และลดราคาลงร้อยละ 20 สำหรับแผงขนาด 50 มิลลิกรัม ซึ่งการลดราคาในครั้งนี้ และการที่ อภ.ผลิตยา “ซิเดกร้า” ถือเป็นความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหายาปลอม และเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชน เพราะยาที่ถูกปลอมมากที่สุด คือ ยากลุ่มรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งตนเชื่อว่าเมื่อมีการผลิตยากลุ่มนี้วางจำหน่ายในราคาถูกปัญหาเรื่องยาปลอมจะหมดไปภายใน 5 ปี

นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ยาซิเดกร้ามีสรรพคุณเทียบเท่าไวอะกร้า จะมีจำหน่ายในร้านขายยาแผนปัจจุบัน โดยผู้ที่ต้องการซื้อจะต้องมีใบสั่งแพทย์ นอกจากนี้ อย.จะออกมาตรการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล ประกอบด้วย 1.ผู้ประกอบการร้านขายยาต้องรับผิดชอบในการควบคุมการกระจายของยาอย่างเคร่งครัดให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ให้ออกไปในช่องทางที่ไม่เหมาะสม 2.ผู้ประกอบการร้านขายยา ต้องรายงานการขายยาให้ อย.ทราบ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำกับดูแลการกระจายยา 3.ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้บริโภค ให้เกิดความเข้าใจ 4.ฟื้นฟูความรู้ให้เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านยา ให้ช่วยดูแลความปลอดภัยการใช้ยา และเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา รวมทั้งไม่จ่ายยาโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ และ 5.ผู้ประกอบการร้านขายยาจะร่วมสนับสนุนให้มีใบสั่งยาจากแพทย์มารับยาในร้านขายยาอย่างเคร่งครัด โดยทาง อย.จะมีการประเมินผลมาตรการควบคุมทุก 6 เดือน

ด้าน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ.กล่าวว่า การวางจำหน่ายยาซิเดกร้า จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ เป็นต้นไป ซึ่งการที่องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยากลุ่มนี้ได้เองจะมีประโยชน์มาก เพราะประเทศไทยมีการใช้ยากลุ่มนี้สูงมากถึงปีละมากกว่า 1 ล้านเม็ด
กำลังโหลดความคิดเห็น