กทม.แจงยิบเงินเยียวยาน้ำท่วม ยันทำตามรัฐบาลทุกขั้นตอน
นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ถึงกรณีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมในปี 2554 ว่า กทม.ได้รับอนุมัติให้ยืมเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีอุทกภัย) จำนวน 2 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2555 จำนวน 50 ล้านบาท ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2555 จำนวนกว่า 1,900 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,965 ล้านบาท โดย กทม.ได้จ่ายเงินให้ประชาชนไปแล้วจนถึงวันที่ 23 ส.ค.2555 ในยอดเงิน 50 ล้านบาท จ่ายให้ผู้ประสบภัย จำนวน 5,599 ราย เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 44 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจำนวน 2,158 บาท ได้ส่งคืนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แล้ว และยอดเงิน 1,900 บาท จ่ายให้ผู้ประสบภัยจำนวน 134,005 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 1,162,190,088 บาท คงเหลือ 753,744,276 บาท หลังจากนั้นทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือถึงปลัดกทม.และผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ให้ขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ไม่สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาภายในเวลาที่กำหนด และประสงค์ขอรับเงินเยียวยา โดยใช้แบบบันทึกยืนยันคำรับรองของผู้ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยปีเป็นแนวทางในการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อขอรับเงินเยียวยาช่วยเหลือจากรัฐบาล กทม.จึงต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กรณีผู้ยื่นคำร้องขอทบทวนจำนวน 47,522 ราย และผู้ยื่นกรณีตกสำรวจที่เหลือ จำนวน 128,517 ราย ที่ยื่นภายในกำหนดที่เหลือและจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือ ซึ่งต้องใช้เงินทั้งสิ้นกว่า 1,896 ล้านบาท โดย กทม.ได้จ่ายเงินทดรองราชการที่ได้รับอนุมัติที่เหลือจำนวนกว่า 753 ล้านบาทไปแล้ว และยังต้องใช้จ่ายเยียวยาให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยเพิ่มเติมที่ต้องขอรับการอนุมัติอีกจำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,142 ล้านบาท ที่ต้องจ่ายให้ครบทั้งหมด จึงได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2555 เพื่อขอรับเงินอุดหนุนเพิ่มเติม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมบัญชีกลาง ซึ่ง กทม.ยืนยันว่า ได้ดำเนินการตามระเบียบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัยทุกประการ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างถาวร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้เสนอยื่นญัตติเพื่อขอความเห็นชอบให้มีการร่างข้อบัญญัติให้ กทม.สามารถใช้เงินสะสมของ กทม.ในการสำรองจ่ายให้กับประชาชนไปก่อนได้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต