กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแอนตี้ ร่วมจ่าย 30 บาท จัดหนัก 4 เหตุผลโต้รัฐบาล ชี้ ไม่ก่อประโยชน์ต่อประชาชนและระบบ ซัดพรรคการเมืองนำเรื่องสุขภาพมาเป็นเครื่องมือหวังผลการเลือกตั้งครั้งหน้า จากการรีแบนด์ 30 บาท
วันนี้ (17 ส.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น.ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ แถลงข่าว เรื่อง “นโยบายการเก็บ 30 บาทของรัฐบาล” ว่า การเร่งรัดนำนโยบายเก็บเงินค่าธรรมเนียมร่วมจ่ายที่หน่วยบริการทุกครั้งที่ไปรับบริการ ครั้งละ 30 บาทนั้น ถือว่าขัดแย้งกับนโยบาย “ลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ” เพราะการเก็บเงินจะส่งผลกระทบต่อคนจนถึงคนจนที่สุด มากกว่าคนที่มีรายได้ประจำ ถึงแม้จะมีการยกเว้นประชาชนบางกลุ่มประชาชนที่ยากจน และประชาชนที่ทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติก็ตาม จุดนี้ทำให้ประชาชนไปรับบริการด้วยศักดิ์ศรีที่ต่างกัน เพราะต้องชี้แจงทุกครั้งว่าไม่พร้อมจ่ายเพราะยากจนหรือเป็นกลุ่มที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ
น.ส.สุภัทรา กล่าวอีกว่า กลุุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จึงไม่เห็นด้วยกับนโยบายการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทต่อครั้ง การใช้บริการในหน่วยบริการของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากเห็นว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลจะต้องสนับสนุนงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว โดยที่ประชาชนได้ร่วมจ่ายผ่านการเสียภาษีอยู่แล้ว ขณะที่ระบบบริการสุขภาพอื่น คือ สิทธิสวัสดิการข้าราชการซึ่งรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเช่นกันแต่ผู้ใช้ไม่ต้องร่วมจ่ายเพิ่ม
น.ส.สุภัทรา กล่าวด้วยว่า กลุ่มได้ออกแถลงการณ์ 4 ข้อ เพื่อชี้ถึงเหตุผลในการไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ คือ 1.การเก็บ 30 บาทไม่ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ทั้งนี้ เมื่อปี 2546 รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บค่ารักษาพยาบาลครั้งละ 30 บาท รวมทั้งหมด 1,073 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 เป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวที่รัฐต้องจัดสรรเข้าระบบ 2.การพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการต้องใช้การจัดการงบประมาณผ่านค่าใช้จ่ายรายหัวเพื่อยกระดับพัฒนาระบบคุณภาพการรักษาและการบริการ ประกอบกับการลดรายจ่ายที่เกินจำเป็น
3.จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่เพราะรักษาฟรี โดยจากข้อมูลอัตราการใช้บริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในระหว่างปีที่ร่วมจ่าย 30 บาทต่อครั้ง กับปี 2550 ที่ไม่มีการร่วมจ่ายก็ไม่มีความต่างในอัตราการใช้บริการอย่างมีนัยสำคัญ แต่คนมาใช้บริการมากขึ้นเพราะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นและการเพิ่มสิทธิประโยชน์ เช่น โรคเอดส์ มะเร็ง เป็นต้น และ 4.หลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิ์ของประชาชนไทยที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน อย่างเท่าเทียมกันด้วยสิทธิและศักดิ์ศรี จึงขอย้ำว่าประชาชนมีสิทธิ์ประสงค์ไม่ร่วมจ่าย 30 บาทตามวงเล็บ 21 ของประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง บุคคลที่ไม่ต้องร่วมจ่ายค่าบริการ พ.ศ.2555
“ประชาชนมีสิทธิไม่ร่วมจ่ายตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันฯ วงเล็บ 21 ซึ่งระบุว่าบุคคลที่แสดงความประสงค์ไม่ร่วมจ่ายค่าบริการ ก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่าย โดยกลุ่มได้ทำใบปลิวรณรงค์ให้ประชาชนปฏิเสธการร่วมจ่ายและจัดทำการ์ด จำนวน 1 หมื่นใบ สำหรับให้ประชาชนใช้ยื่นแสดงประสงคืไม่ร่วมจ่ายต่อเจ้าหน้าที่ และหากประชาชนถูกเรียกเก็บ 30 บาทโดยที่ไม่ต้องการจ่ายหรือไม่ได้รับการสอบถามจากเจ้าหน้าที่ก่อนว่าสมัครใจจ่ายหรือไม่ สามารถร้องเรียนเพื่อขอรับเงินคืนได้ โดยสามารถร้องเรียนผ่านสายด่วน 1330 หรือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 02-248-3737” น.ส.สุภัทรา กล่าว
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์ผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อท้ายที่สุดประชาชนมีสิทธิ์ที่จะแสดงความประสงค์ไม่ร่วมจ่าย 30 บาทได้ตามความสมัครใจ จึงไม่เห็นว่าจะมีเหตุผลใดๆ ที่ประชาชนต้องร่วมจ่าย เพราะไม่ได้ส่งผลดีหรือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและระบบหลักประกันสุขภาพ การเรียกเก็บ 30 บาทอีกครั้งจึงมีเพียงเหตุผลเดียว คือการรีแบนด์ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมือง โดยหวังผลในการเลือกตั้งครั้งหน้า การดำเนินการนโยบายนี้จึงมีเพียงรัฐบาลเท่านั้นที่ได้ประโยชน์
ทั้งนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ จะร่วมกันแสดงความจำนง “ประสงค์ไม่จ่ายค่าบริการตามวงเล็บ 21” ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามประกาศฉบับนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ส่วนการเคลื่อนไหวในภาคอื่นๆ ของประเทศ จะร่วมกันยื่นหนังสือแสดงความจำนง "ไม่ประสงค์ร่วมจ่ายค่าบริการ” พร้อมรวบรวมรายมือชื่อผู้ไม่เห็นด้วยต่อผู้ว่าราชการจังหวัด โดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคเหนือ และกลุ่มคนอิสานรักหลักประกันสุขภาพจะเคลื่อนไหวในวันที่ 22 ส.ค.นี้
สำหรับการประกาศตามประกาศบุคคลยกเว้นไม่ต้องจ่าย 30 บาท ดังกล่าว สรุปแยกเป็นหมวดได้ 5 หมวดใหญ่ๆ คือ 1.ผู้มีรายได้น้อย 2.กลุ่มวัย อายุ สภาพร่างกาย ใจ จิต มีจำนวน 5 ประเภท เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เด็กที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมต้น เป็นต้น 3. กลุ่มคนที่ทำประโยชน์ให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอื่นๆ จำนวน 12 ประเภท เช่น อสม.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทหารผ่านศึก ฯลฯ 4.กลุ่มเฉพาะ/พื้นที่เฉพาะ จำนวน 2 ประเภท ได้แก่ นักบวชในพุทธศาสนา และศาสนาอิสลาม รวมถึงครอบครัว และประชาชนในเขตจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ระนอง กระบี่ พังงา และภูเก็ต 5.กลุ่มที่นอกเหนือจากข้อยกเว้นอื่นๆ จำนวน 1 ประเภท ได้แก่ บุคคลที่แสดงความประสงค์ไม่จ่ายค่าบริการ (21)