อย.เผยผลตรวจจับกาแฟเถื่อน พบกาแฟผสมไซบูทรามีน จำนวน 19 ยี่ห้อ ใช้ฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ อ้างลดน้ำหนัก ย้ำเพิกถอนยาไซบูทรามีนออกจากตลาดแล้ว ระบุ ที่ผ่านมาได้ทำลายแหล่งผลิต/จำหน่าย ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ฝากเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อและควรซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย พร้อมแนะควบคุมน้ำหนักควบคู่กับการออกกำลังกาย แจงประเทศไทยไม่ได้นำเข้านมทารกจากญี่ปุ่นที่มีปัญหา และทางการฮ่องกงสั่งเก็บออกจากท้องตลาดนั้น
ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ พบกาแฟผสมไซบูทรามีน อวดสรรพคุณลดน้ำหนักขายเกลื่อนตามท้องตลาด นั้น ทาง อย.ได้มีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์กาแฟอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่โฆษณาสรรพคุณลดน้ำหนัก ส่วนใหญ่พบเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟอวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขออนุญาตนำเข้า และจดทะเบียนอาหารกับ อย.ทั้งนี้ ผลจากการตรวจสอบกาแฟที่มีปัญหาดังกล่าวช่วงรอบปีที่ผ่านมา พบกาแฟผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่ฉลากระบุเป็นภาษาต่างประเทศ โดยผลตรวจวิเคราะห์พบผสมสารไซบูทรามีน จำนวน 19 ยี่ห้อ เช่น
1.กาแฟบรรจุในกระป๋องกลมปิดสนิทสีม่วง ฉลากระบุ “SLIMMING COFFEE REDUCE WEIGHT COFFEE”
2.กาแฟบรรจุในกระป๋องสามเหลี่ยมปิดสนิทสีแดงน้ำตาล ฉลากระบุ “SLIMMING COFFEE”
3.กาแฟบรรจุในกล่องกระดาษปิดสนิทสีแดง ฉลากระบุ “Fashion Slimming Coffee AMERICANH.S-STRENGTH HEALTH PRODUCE INTERNATIONAL GROUP CO., LTD.”
4.ผลิตภัณฑ์กาแฟบรรจุกล่องสีแดงน้ำตาล ลักษณะเป็นกล่องเหล็ก มีรูปถ้วยกาแฟและรูปผู้หญิงนั่ง ฉลากระบุ SLIMMING 100%
5.กาแฟบรรจุในกระป๋องปิดสนิทสีแดง ฉลากระบุ “กาแฟมหัศจรรย์ 26 วันผอม เผาไขมัน 26 วันผอม เผาไขมันส่วนเกินของร่างกาย slimming coffee เป็นต้น ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์กาแฟที่ผิดกฎหมายดังกล่าว อย.ได้ดำเนินคดีกับผู้จำหน่าย/ผู้นำเข้าอย่างเข้มงวดแล้ว
“หากจะซื้อผลิตภัณฑ์กาแฟ หรือผลิตภัณฑ์อาหารใดๆ ก็ตาม ควรเลือกซื้อที่มีฉลากภาษาไทยระบุข้อความครบถ้วน เพื่อจะได้ติดตามหาต้นตอแหล่งผลิตได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กาแฟสำเร็จรูปที่บรรจุในกระป๋องโลหะ ฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ กำลังระบาดหนักในหมู่ผู้นิยมบริโภคกาแฟ ดังนั้น จึงขอเตือนมายังผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อกาแฟดังกล่าวมาบริโภค อย่าได้หลงคารมผู้ขายว่าเป็นกาแฟจากต่างประเทศ และสามารถลดความอ้วนได้ เพราะกาแฟเหล่านี้ อย.เคยส่งตรวจวิเคราะห์และผลตรวจพบใส่ยาลดความอ้วนไซบูทรามีน ซึ่งเป็นอันตรายต่อการบริโภค เนื่องจากยาดังกล่าวมีผลข้างเคียงสูง ต้องใช้โดยความดูแลของแพทย์ โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว แม้จะไม่มากนัก แต่มีผลให้ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 5 จำเป็นต้องหยุดยา ส่วนผลข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และท้องผูก เป็นต้น” รองเลขาธิการ อย.กล่าวและว่า ปัจจุบัน อย.ได้เพิกถอนยาไซบูทรามีนออกจากตลาดแล้ว หากต้องการลดหรือควบคุมน้ำหนัก ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงบริโภคผลิตภัณฑ์กาแฟ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ควรควบคุมการบริโภคอาหารร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน หากผู้บริโภคพบเห็นการผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย แจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดที่พบปัญหานั้น
ภญ.ศรีนวล กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่มีข่าวทางการฮ่องกงสั่งเก็บนมผงสำหรับทารกอายุ 9 เดือน 2 ยี่ห้อจากประเทศญี่ปุ่น คือ วาโคโดะ และ โมรินางะ ออกจากตลาด เนื่องจากตรวจพบว่ามีระดับแร่ธาตุไอโอดีน ซึ่งมีความสำคัญต่อพัฒนาการของทารกต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำมากกว่า 1 ใน 3 นั้น อย.ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ประเทศไทยไม่มีการนำเข้านมผงดังกล่าว ทั้งนี้ ก่อนที่ผลิตภัณฑ์นมชนิดใดๆ จะสามารถวางจำหน่ายตามท้องตลาดได้ ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าจะต้องมีการแสดงผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด อย.จึงจะอนุญาตให้ผลิตหรือนำเข้าได้