xs
xsm
sm
md
lg

วธ.สดุดี “ในหลวง” ทรงห่วงใยภาษาไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัลเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2555 พร้อมด้วยนางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายสมชาย. เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม โดยมีปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น และศิลปินนักร้อง เข้ารับรางวัล ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2555
วธ.จัดวันภาษาไทยสดุดีในหลวง ทรงห่วงใยภาษาไทย ขณะที่ “เพลงผู้ปิดทองหลังพระ-ตามรอยพระราชา” นำ แอ๊ด -เบิร์ด คว้ารางวัลขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทยปี 55 ขณะที่ชาวเกาหลี-แคนนาดา สุดปลื้มคว้าผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นด้วย

วันนี้ (29 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานและมอบเข็มและโล่เชิดชูเกียรติผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2555 โดยมีนางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ผู้บริหาร ข้าราชการ ให้การต้อนรับ มีครู นักเรียน ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานกว่า 1,000 คนเข้าร่วมงาน โดย นางสุกุมล กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดให้วันที่ 29 ก.ค.ของทุกปีเป็นวันภาษาแห่งชาติ เพื่อสนองพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยในโอกาสต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง และการอนุรักษ์ภาษาไทยและภาษาท้องถิ่นอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นมาและวัฒนธรรมอันยาวนาน ตลอดจนการสืบสานภาษาไทยให้คงอยู่สู่อนุชนรุ่นหลัง

ขณะที่ นายยงยุทธ ได้มอบเข็มและโล่เชิดชูเกียรติแก่ปูชนียบุคคล หรือบุคคลที่เป็นแบบอย่างด้านการใช้ภาษาไทย ประจำปี 2555 แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้ 1.ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการด้านภาษาไทย จำนวน 5 ราย อาทิ ผศ.ดร.คมคาย นิลประภัสสร ผศ.วินัย ภู่ระหงษ์ และ นายอำพล สุวรรณธาดา 2.ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น เป็นชาวไทยที่มีผลงานการสร้างสรรค์ภาษาไทย และสามารถใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และชาวต่างประเทศที่ใช้ภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผู้มีความชำนาญในการใช้ภาษาไทยและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป จำนวน 18 ราย อาทิ ผศ.กิติยวดี บุญซื่อ น.ส.ณัฏฐา โกมลวาทิน น.ส.นิตยา อรุณวงศ์ และ นายพิณโญ รุ่งสมัย รวมทั้งชาวต่างชาติ ได้แก่ นายปีเตอร์ จอห์น แวนฮาเร็น ชาวแคนาดา เป็นต้น

3.ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น เป็นผู้ที่มีผลงานการสร้างสรรค์ภาษาไทยถิ่น และสามารถใช้ได้อย่างเหมาะสม จำนวน 4 ราย อาทิ น.ส.พรพิมล เฟื่องฟุ้ง (เปาวลี) และ นายกลิ่น คงเหมือนเพชร เป็นต้น 4.ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นบุคคลหรือองค์กรที่มีคุณูปการต่อวงการภาษาไทยหรือภาษาไทยถิ่น จำนวน 13 ราย เป็นบุคคล 11 ราย และองค์กร 2 แห่ง อาทิ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ศ. ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุล ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร รวมทั้งชาวต่างชาติ ได้แก่ รศ.ดร.อนาโตล โรเจอร์ เป็ลติเยร์ ศ.ดร.ฮานู ลี ส่วนองค์กร ได้แก่ มูลนิธิซิเมนต์ไทย และบริษัท ซี พี ออลล์ จำกัด เป็นต้น

จากนั้น นายยงยุทธ ยังได้มอบรางวัลพระคเณศ ตามโครงการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) ของกรมศิลปากร ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้ประพันธ์ นักร้อง เพลงไทยสากล และลูกทุ่งที่ออกเสียงได้ถูกต้องตามอักขระภาษาไทย เพื่อยกย่องบุคคลในวงการเพลงที่มีผลงานดีเด่นด้านภาษาไทย ทั้งนักประพันธ์เพลงที่มีความสามารถผสมผสานความรู้ด้านภาษา วรรณกรรม และนักร้องที่ร้องเพลงออกเสียงชัดเจน และถูกต้องตามหลักการใช้ภาษาไทย โดยมีผู้ได้รับการประกาศยกย่องทั้งประเภทเพลงไทยลูกทุ่ง และเพลงไทยสากล ได้แก่ 1.รางวัลเชิดชูเกียรติผู้ประพันธ์เพลงดีเด่นในอดีต จำนวน 2 รางวัล อาทิ เพลงน้ำตาแสงไต้ โดย นายอำนวย กสัสนิมิ (ครูเนรมิต) และผู้ประพันธ์ร่วม และเพลงชมทุ่ง โดย นายสมส่วน พรหมสว่าง (เพลิน พรหมแดน) เป็นต้น

2.รางวัลประเภทการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย จำนวน 6 รางวัล อาทิ เพลงวันเพ็ญ โดย นายวิเชียร ตันติพิมลพันธ์ และเพลงขอเช็ดน้ำตาบนหน้าแม่ โดย นายศิวพล เพชรทอง เป็นต้น 3.รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย จำนวน 12รางวัล อาทิ เพลงผู้ปิดทองหลังพระ โดย นายยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว เพลงตามรอยพระราชา โดย นายธงไชย แมคอินไตย์ เพลงวันเพ็ญ โดย นายนภัทร อินทร์ใจเอื้อ (กัน เดอะสตาร์) เพลงชีวิตคู่ โดย น.ส.ธนพร แวกประยูร (ปาน ธนพร) เพลงคนไม่น่าสงสาร โดย น.ส.ธิติมา ประทุมทิพย์ (แอน ธิติมา) เพลงเข็ดรักจากเจ้าพระยา โดยนายสร่างศัลย์ เรืองศรี (หนู มิเตอร์) และเพลงสัญญาบ้านทุ่ง โดย น.ส.วริดา อุสุภะ (วิรดา วงศ์เทวัญ อาร์สยาม)

ภายหลังมอบรางวัล นายยงยุทธ กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เห็นความสำคัญของวันภาษาไทยแห่งชาติเป็นอย่างมาก ได้ปราศรัยผ่านทางวิทยุขอให้พี่น้องชาวไทยเห็นความสำคัญ ส่วนบุคคลที่อยู่ในใจของตนตลอดเวลาในเรื่องของการใช้ภาษาไทยและภาษาถิ่น คือ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ท่านใช้ภาษาไทยได้ถูกต้อง ถูกกาลเทศะ ชัดถ้อยชัดคำ สมัยที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านจะฟังข่าวทุกวันจากพิธีกร และพูดคุยกับข้าราชการ บางคนที่พูด ร ล ไม่ชัด ใช้ภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ ท่านจะติดต่อไปว่าใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ท่านยังส่งเสริมการใช้ภาษาถิ่น โดยเฉพาะภาษาใต้ติดต่อกับคนท้องถิ่น เป็นต้นแบบให้ตนปฏิบัติตัวในการทำงาน

ยกตัวอย่าง กรณีเพื่อนคนใต้มาทักทายด้วยภาษาใต้ ตนก็จะตอบกลับด้วยภาษาใต้เหมือนกัน ทำให้เพิ่มความสัมพันธ์ เป็นคนไม่ลืมถิ่น ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง อยากจะขอฝากไปยังครูบาอาจารย์ว่าเด็กสมัยนี้มักใช้คำว่า ไม่รู้ มากกว่าคำว่า ไม่ทราบ ทุกคนมักพูดคำว่า ไม่รู้ แต่ไม่มีใครพูดว่า ไม่ทราบ ทั้งที่คำว่า ไม่รู้นั้น ไม่สุภาพ ส่วน พิธีกรบางคนยังพลาด พูด ร ล ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ตนจึงขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาภาษาไทยไว้ ถ้าเราไม่รักษาไว้ก็เหมือนกับเราไม่รักษารากเหง้าตนเอง

ส่วน เบิร์ด หรือ นายธงชัย แมคอินไตย์ นักร้องชื่อดัง กล่าวว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราที่ได้รับรางวัลการใช้ภาษาไทย เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้น้องๆ ทุกคนภูมิใจในภาษาของเรา หรือกลายเป็นแฟชั่นในการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง แม้จะมีการใช้ภาษาแชทตามเว็บไซต์ต่างๆ ก็ตาม สำหรับตนโดนปลูกฝังเรื่องการใช้ภาษาไทยมาตั้งแต่สมัยคุณเต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ที่พูด ร ล คำควบกล้ำได้ชัดเจน หากเราร้องเพลงชัด คำก็จะชัดตั้งแต่เราร้องแล้ว ความหมายก็จะทำให้เราคิด เห็นภาพได้มากกว่า สำหรับน้องๆ นักร้องรุ่นหลังขอให้ช่วยกันตระหนักเรื่องการใช้ภาษาไทยด้วย

ด้าน ศ.ดร.ฮานู ลี ในฐานะรับรางวัลผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย กล่าวว่า ผมสำนึกบุญคุณประเทศไทย ที่ส่งทหารไทยมาช่วยรบในสมัยสงครามโลก และเมื่อ 30 ปีก่อนในแถบเอเชีย ไทยมีความโดดเด่นมาก จึงคิดว่าควรรู้ภาษาไทย เพื่อใช้ในการสื่อสาร จึงจัดสินใจเรียนภาษาไทย ที่มหาวิทยลัยฮันกุ๊ก ประเทศเกาหลี จากนั้นได้รับทุนจากยูเนสโก ให้เรียนภาษาไทย ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เมื่อเรียนจบได้ทำงานที่สถานทูตเกาหลี และเป็นล่ามให้แก่ชาวเกาหลีด้วย นอกจากนี้ ยังได้สอนภาษาไทยให้แก่นักศึกษาปริญญาตรี และปริญญาโท รวมทั้งจัดทำเอกสารการเรียนการสอนภาษาไทย จำนวน 32 เล่ม เพื่อใช้ในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศึกษา

ศ.ดร.ฮานู ลี กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสอนภาษาไทยให้ชาวเกาหลี ที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทยด้วย ส่วนตนนับถือศาสนาพุทธ ก็ได้ศึกษาคำสั่งสอนด้านพุทธศาสนาที่พระสงฆ์ไทยได้เผยแพร่ไว้ ตั้งใจจะเขียนเป็นภาษาเกาหลี ให้เข้าใจง่ายๆ เพื่อให้ชาวเกาหลีที่นับถือศาสนาพุทธเข้าถึงคำสั่งสอนของพุทธศาสนา

ด้าน ปีเตอร์ จอห์น แวนฮาเร็น ในฐานะผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น กล่าวว่า ตนมีความคิดว่าไปอยู่ประเทศไหนจะต้องสื่อสารภาษาของประเทศนั้นให้ได้ ไม่อยากใช้ล่าม พอมาอยู่ประเทศไทย ก็ได้เรียนภาษาไทย 6 เดือน จากนั้นก็เรียนภาษาไทยจากเพื่อนๆ ที่อยู่รอบตัว เพื่อนจะสอนพูด พูดอย่างนี้ถูก อย่างนี้พูดไม่ถูก ตนก็จำมาเรื่อยๆ แล้วพยายามออกเสียงให้ชัดเจน

"การพูดภาษาไทยได้เป็นการให้เกียรติเจ้าของประเทศ และคนไทยก็จะให้เกียรติเราด้วย ช่วงแรกสำเนียงอาจเพี้ยนไปบ้าง พอฝึกพูดบ่อยๆ จะชัดขึ้น และทำให้เราสื่อสารกับคนรอบตัวเราเข้าใจตรงกัน” นายปีเตอร์ กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันตนได้รับเกียรติจาก อสมท 96.5 เอฟเอ็ม คลื่นความคิด เป็นผู้ดำเนินรายการซีอีโอ วิชัน และช่วงเศรษฐกิจในข่าวเด่นประเด็นร้อน



ศ.ดร.ฮานู ลี รับรางวัลผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย
ปีเตอร์ จอห์น แวนฮาเร็น ในฐานะผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น
กำลังโหลดความคิดเห็น