xs
xsm
sm
md
lg

“ดิเกร์ฮูลู 2 ภาษา” สื่อกลางดับไฟใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สุกัญญา แสงงาม

เยาวชนชาย-หญิง บรรยายวิถีชีวิตคนภาคใต้ ด้วยการทำมือเป็นลูกคลื่นในท้องทะเล ท่ากวักมือ ท่าปลาแหวกว่าย ท่าชักอวน พร้อมกับตบมือเป็นจังหวะ ให้ทุกคนทำท่าพลิ้วไหวโดยพร้อมเพรียงกัน ท่าทางประกอบเนื้อหาที่ร้อง นี่คือ มนต์เสน่ห์ของการแสดงพื้นบ้าน “ดิเกร์ฮูลู” หรือ “ลิเกฮูลู” ปัจจุบันการแสดงหาชมได้ยากเต็มที่

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดโครงการ “ร้อยใจไทย ใต้ร่มเย็น” จัดประกวดการแสดงดิเกร์ฮูลู เพื่อใช้มิติวัฒนธรรมสร้างสัมพันธ์ พร้อมสืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้านในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ สงขลา โดยเปิดให้เด็ก เยาวชนชาย-หญิง สมัครเข้าร่วมการแข่งขันจังหวัดละไม่เกิน 5 คณะ โดยคณะผู้เข้าประกวดจะต้องแต่งเนื้อร้องในหัวข้อ “สานสายใยพี่น้อง ชายแดนใต้สันติสุข ทุกชุมชนพอเพียง” โดยมีคำร้องภาษาไทย ร่วมกับภาษามลายู ซึ่งต้นเดือนสิงหาคมนี้ จะทราบผลการประกวด โดยคณะที่ได้รับการชนะเลิศ จะได้รับทุนสนับสนุน 50,000 บาท พร้อมถ้วยเกียรติยศ รองอันดับ 1 40,000 บาท รองอันดับ 2 รับทุน 30,000 บาท ส่วนคณะที่เข้ารอบสุดท้าย ไม่ได้รางวัลใดๆ จะได้รับทุนสนับสนุนด้านวัฒนธรรมหมู่บ้านละ 10,000 บาท และประกาศเกียรติคุณจากระทรวงวัฒนธรรม

นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เล่าให้ฟังว่า ดิเกร์ฮูลู เป็นศิลปะการแสดงทั้งลีลาการละเล่น มีความสมัครสมานสามัคคีโดยพร้อมเพรียงกัน ส่วนบทประพันธ์เนื้อหาสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนใต้ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและที่อยู่กันอย่างสงบสุข

การให้แต่ละทีมเรียบเรียงเนื้อหาขึ้นมาใหม่ เป็น 2 ภาษา เนื่องจากในชีวิตจะสื่อสารทั้งภาษาไทย และ มลายู จะเป็นการบูรณาภาษาและศิลปะการแสดงเข้าด้วยกัน แล้วเป็นกลยุทธ์ให้ลูกหลานในท้องถิ่นสืบสานวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไป และนอกจากเยาวชนรุ่นใหม่เยาวชนจะแสดงดิเกร์ฮูลู ได้นั้น จะต้องผ่านการถ่ายทอด และฝึกฝนจากคนรุ่นพ่อแม่ ผู้สูงอายุ หรือปราชญ์ในท้องถิ่นที่มีความเชี่ยวชาญการละเล่นดิเกร์ฮูลู จะทำให้คนต่างวัยในพื้นที่เดียวกันมีโอกาสพบปะพูดคุยกันมากขึ้น ขณะเดียวกันเยาวชนจะได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ไม่เสียเวลาไปกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์

“เชื่อว่า บทประพันธ์ที่เยาวชนและปราชญ์ ได้ร่วมกันเรียบเรียงเป็น 2 ภาษานั้น จะสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านดิเกร์ฮูลู” ปลัด วธ.บอก

ด้าน นภัสร ประติกูล นักเรียนจากโรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร เล่าให้ฟังว่า ทางโรงเรียนได้รวบรวมนักเรียนที่สนใจ แล้วตั้งเป็นคณะดิเกร์ฮูลู ประจำโรงเรียน ได้มีโอกาสไปแสดงโชว์ตามงานต่างๆ และได้รับความใจจากผู้ที่มาชม อาจเป็นเพราะจังหวะดนตรีสนุก และมีท่าทางประกอบเนื้อร้อง

“เคยเห็นรุ่นพี่ซ้อมกันอยู่ที่โรงเรียน เห็นแล้วรู้สึกสนุก ระหว่างยืนดูก็ทำท่าทางตาม นอกจากนี้ เคยเห็นจากโทรทัศน์ จะแต่งชุดคล้ายแขก ยิ่งประทับใจ จึงจัดสินใจสมัครเป็นหนึ่งในคณะดิเกร์ฮูลู เคยแสดงงานโรงเรียนและไปโชว์ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งจะเชิญผ่านทางโรงเรียน” นภัสร กล่าว

นภัสร แสดงความเห็นว่า เป็นคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่คนใต้ ไม่เคยเห็นวิถีชีวิตชาวเล จะร้องและแสดงท่าทางตามที่อาจารย์สอน อย่างไรก็ตาม รู้สึกภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดวิถีชีวิต ของคนภาคใต้ แล้วอยากให้ดิเกร์ฮูลู เป็นสื่อกลางในการสร้างสันติสุขให้พ่อแม่พี่น้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อยู่กันอย่างสงบสุข และอยากให้เด็กใต้สืบสานวัฒนธรรมดีๆ นี้ไว้ให้คงอยู่ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น