xs
xsm
sm
md
lg

คนไร้บ้าน…แห่งมหานครนิวยอร์ก ด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย..วรรณภา บูชา

นครนิวยอร์ก มหานครเอกของโลก เมืองที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา เมืองที่ไม่เคยหลับใหล เมืองแห่งความศิวิไลซ์ เมืองที่เจริญที่สุดในโลก ไม่ว่าใครจะมองนิวยอร์กอย่างไร ในอีกมุมหนึ่งของเมืองแห่งนี้ ยังคงมีคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน ขอทาน ที่เตร็ดเตร่อยู่บนท้องถนน และถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ “นายไมเคิล อาร์ บลูมเบิร์ก” นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก คนที่ 108 ให้ความสำคัญหยิบยกมาเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเป็นอันดับต้นๆ

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมคณะ ได้เดินทางไปดูงานด้านสวัสดิการของบุคคลไร้บ้าน ที่สำนักงานสวัสดิการเพื่อคนไร้บ้านของนครนิวยอร์ก (NYC Department of Homeless Services หรือ DHS) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของนครนิวยอร์กที่รับผิดชอบป้องกันและแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน ที่มีอยู่กว่า 42,000 คน

เมื่อมาถึง DHS ภายนอกเป็นอาคารสีน้ำตาลหลังสูงใหญ่ ใหม่เอี่ยม เพราะเพิ่งจะสร้างขึ้นใหม่เปิดใช้เพียง 1 ปีเท่านั้น อาคารแห่งนี้ถือเป็นจุดแรกรับสำหรับบุคคลไร้บ้าน ที่จะเดินทางมาขึ้นทะเบียน โดยเป็น 1 ใน 4 จุด ที่เปิดให้ลงทะเบียนโดยไม่มีวันหยุด และยังเปิดตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย ขณะที่สภาพภายในอาคารมีการตกแต่งอย่างสวยงาม โปร่งไม่มืดทึม สะอาด ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย เอื้อต่อการที่ผู้ที่ไร้บ้านจะเดินเข้ามาใช้บริการได้อย่างสบายใจ

นายเซท ไดมอน ผู้บริหารสำนักงานสวัสดิการเพื่อคนไร้บ้านของนครนิวยอร์ก (DHS) ให้การต้อนรับคณะดูงานเป็นอย่างดี พร้อมกับอธิบายการบริหารและการดำเนินงานว่า DHS ได้รับงบประมาณในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี บริหารจัดการปัญหาคนไร้บ้านในนิวยอร์กทั้งหมด มีพนักงานอยู่ราว 2,000 กว่าคน และมีการทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO อีกกว่า 3 แสนคน ในการช่วยดึงคนไร้บ้านออกจาท้องถนนและทำงานเชิงป้องกัน

ทั้งนี้ คนไร้บ้านในนิวยอร์กไม่ได้เป็นปัญหาเพียงรายบุคคลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงครอบครัวที่มีเด็กเล็กอาศัยอยู่ด้วย โดยตัวเลขล่าสุดมีครอบครัวที่ไร้บ้านกว่า 9 พันครอบครัว และเป็นคู่อีก 9 พันครอบครัว เด็กอีกราว 1.8 หมื่นคน ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มที่ตัวเลขจะเพิ่มมากขึ้น

สาเหตุที่มีคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนตกงาน ไม่มีค่าเช่าบ้าน หรือมีปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ถ้าเป็นปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายครอบครัวส่วนใหญ่จะพยายามดิ้นรนให้โรงเรียนของลูก หลาน เข้าสู่ช่วงปิดเทอมก่อนที่จะเข้าสู่ในระบบ” นายเซท แจกแจง

สำหรับขั้นตอนการเข้ารับบริการที่ศูนย์แห่งนี้ เมื่อเข้าลงทะเบียนเป็นคนไร้บ้าน จะมีการสัมภาษณ์เพื่อให้ทราบว่าประวัติ เช่น ไร้บ้านจริงหรือไม่ เคยมีที่อยู่อาศัยในแหล่งใดมาก่อน ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 6 ชม.จากนั้นจึงจะนำตัวไปส่งบ้านพักที่ใกล้กับที่อยู่เดิม ซึ่งบ้านพักมีอยู่ทั้งสิ้น 250 แห่ง ทั่วเมือง ไม่เพียงเท่านั้นงานที่เน้นเป็นพิเศษคือการพัฒนาคน หางานให้ทำ ให้เงินกู้ระยะสั้น ให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัว ให้เด็กได้ไปเรียนที่โรงเรียนต่อเนื่อง โดยการหาโรงเรียนใหม่ หรือให้เรียนต่อโรงเรียนเก่า ซึ่งสวัสดิการต่างๆ ทั้งการเรียนฟรี และการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งที่ประชาชนได้รับอยู่แล้ว นอกจากนั้น ยังมีเงินยังชีพ 700 US และค่าอาหาร 300US /ครอบครัว/เดือน ส่วนคนโสด ได้รับราว 350 US และค่าอาหาร 150 US /คน/เดือน ทั้งนี้ พบว่า ผู้ที่เข้ามาสู่บ้านพักพิงมีทั้งอยู่ระยะสั้นและระยะยาว แต่ส่วนใหญ่ไม่เกิน 11 เดือน ก่อนกลับคืนสู่สังคมและมีเพียง 30% เท่านั้นที่กลับเข้าบ้านพังพิงอีก

คนไร้บ้านที่ยังนอนอยู่ตามสวนสาธารณะ สถานีรถไฟ ก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่อยากปฏิบัติตามกฎ บ้างใช้ยาเสพติด บ้างมีปัญหาทางจิต ซึ่งจากการสำรวจมีอยู่ราว 3 พันคน ส่วนใหญ่โสด หลังจากทำงานร่วมกับเอ็นจีโอในพื้นที่พบว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้คนไร้บ้านที่อยู่บนถนนลดลง ความพยายามในการดึงผู้ติดยาเสพติดและมีอาการทางจิตออกมาบำบัดประสบผลสำเร็จ ที่สำคัญ ส่งผลให้ปัญหาอาชญากรรมลดลงด้วย” นายเซท ระบุ

ขณะเดียวกัน ก็ร่วมมือกับเอ็นจีโออีกกลุ่ม ทำงานเชิงการป้องกัน พูดคุยแก้ปัญหา กลุ่มเสี่ยงก่อนที่คนเหล่านั้นจะกลายเป็นคนไร้บ้าน เนื่องจากต้นทุนในการดูแลคนกลุ่มนี้ เมื่อเป็นคนไร้บ้านสูงมาก ราว 120,000 US ต่อครอบครัวต่อเดือน หากสามารถป้องกันได้ตั้งแต่แรกเข้าจะช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐได้เป็นอย่างมาก

ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ สะท้อนปัญหาคนไร้บ้านหรือคนเร่ร่อนในกทม.ว่า ปัญหาของเรา ไม่รุนแรงเท่าที่นิวยอร์ก ส่วนหนึ่งเพราะมีระบบครอบครัวที่แข็งแรงกว่าช่วยให้เกิดการพึ่งพิงกันได้ และคนไร้บ้านส่วนหนึ่งที่ไม่ต้องการออกจากท้องถนน เพราะต้องการอิสระ โดยจากการสำรวจคนเร่ร่อนใน กทม.พบว่ามีอยู่ราว 732 คน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กทม.ได้จัดเตรียมที่บริเวณการประปาแม้นศรี บนเนื้อที่ 1000 ตร.ม.ไว้สำหรับจัดสร้างสถานพักพิงคนไร้บ้าน โดยสามารถรองรับได้ 200 ราย แบ่งเป็นหญิง 100 ราย ชาย 100 ราย โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้เร็วๆ นี้

จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ ให้บทเรียนว่าสิ่งแรกที่ทุกคนต้องเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือใครก็ตาม คือ การที่จะต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เหมือนที่ DHS มองว่า ชีวิตของทุกคนมีความหมาย” ผู้ว่าฯ กทม.ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น