xs
xsm
sm
md
lg

ทีดีอาร์ไอชี้ชัดไทยทุ่มเงินวิจัยแต่ผลงานที่ได้แค่สลึงเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีดีอาร์ไอ ชี้ แนวโน้มไทยทุ่มเงินเพื่อการวิจัยเพิ่มขึ้นทุกปี แต่สัดส่วนชิ้นงานที่ปรากฏเทียบได้แค่สลึงเดียว ขณะที่สัดส่วนนักวิจัยชะลอตัวในช่วงปี 2552 สัดส่วนที่ 589 คนต่อประชากร 1 ล้านคน และภาคเอกชนมีความถี่ในการศึกษาวิจัยมากกว่าหน่วยงานภาครัฐ และเอ็นจีโอ

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ จัดสัมมนาเรื่อง “ระบบการประเมินผลการวิจัยและพัฒนาของประเทศ : จากกรอบแนวคิดสู่แนวทางการปฏิบัติ” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอ นำเสนอผลการศึกษาเรื่องระบบการประเมินผลการวิจัยและพัฒนาของประเทศ : จากกรอบแนวคิดสู่แนวทางการปฏิบัติ ตอนหนึ่ง ว่า การวิจัยชิ้นนี้ทำเพื่อสร้างกลไกการพร้อมรับผิดรับชอบในการใช้งบประมาณของหน่วยงานวิจัยและหน่วยงานให้ทุนวิจัย ทั้งเป็นข้อมูลให้ระดับนโยบายใช้ในการกำหนดนโยบายและการจัดสรรทรัพยากรในการวิจัยและพัฒนา ให้ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม ในเบื้องต้นพบว่า ข้อมูลที่ใช้ในการประเมินไม่ทันสมัย เนื่องจากภาครัฐและภาคเอกชนมีความถี่ในการสำรวจข้อมูลเรื่องต่างๆแตกต่างกัน โดยเอกชนสำรวจทุกปี ส่วนภาครัฐและเอ็นจีโอสำรวจปีเว้นปี จึงเสนอว่าควรปรับความถี่ในการสำรวจเป็นทุกปีเหมือนกันทั้งภาครัฐและเอกชน
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ จากการสำรวจด้านการลงทุนการวิจัย พบว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้งบประมาณเพื่อลงทุนวิจัยเพิ่มขึ้นทุกปี แต่เมื่อเทียบสัดส่วนงบวิจัยกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ยังอยู่ในระดับ 0.24 หรือแค่สลึงเดียว เมื่อเทียบกับคำสัญญาที่หลายๆ รัฐบาลให้ไว้ว่าจะให้งบวิจัยเท่ากับ 1-2% ของจีดีพี สำหรับจำนวนนักวิจัย พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2540-2550 และกลับชะลอตัวลงในปี 2552 สัดส่วนนักวิจัย 589 คนต่อประชากร 1 ล้านคน เมื่อเทียบผลงานการวิจัยนั้น พบว่า จำนวนสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรที่จดทะเบียนโดยคนไทย หรือบริษัทไทย ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีเปลี่ยนแปลงมากนัก แม้ว่างบวิจัยและนักวิจัยได้เพิ่มมากขึ้นก็ตาม ขณะที่จำนวนลิขสิทธิ์มีแนวโน้มลงลงอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับงบวิจัยกับสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรของต่างประเทศ พบว่า ไทยกับมาเลเซีย มีผลผลิตที่ใกล้เคียงกัน แต่หากนำไทยไปเทียบกับประเทศไต้หวัน และประเทศเกาหลีใต้ จะพบว่า ไทยอยู่ห่างจาก 2 ประเทศนี้มาก

ด้าน ศ.ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อคิดเห็นต่อการทำวิจัยเรื่องนี้ ว่า งานวิจัยชิ้นนี้มองเชิงบวก แต่หากจะนำไปเป็นข้อมูลกำหนดเชิงนโยบาย จะต้องตอบคำถามของฝ่ายการเมืองให้ได้ว่า การใช้สนับสนุนการวิจัยเป็นการลงทุน ซึ่งก็มีความเสี่ยงทั้งได้และเสีย เช่น หากให้งบวิจัยแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ หรือไม่มีการนำผลวิจัยไปใช้ ผู้รับงบจะต้องทำอย่างไรให้ฝ่ายการเมืองเข้าใจและยังคงสนับสนุนงบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น