xs
xsm
sm
md
lg

เตือนผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ “กางร่มกันฝน” ขณะขับขี่ เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ถึงตาย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.สธ.
สธ.เตือนผู้ขับขี่-ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์แล้วกางร่มกันฝน เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุง่าย-อันตรายขั้นเสียชีวิต พิการ จากศีรษะฟาดฟื้นจากแรงลม

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงฤดูฝนนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งข้อมูลของกรมการขนส่งจนถึงล่าสุดมีผู้ใช้รถประเภทนี้มากอันดับ 1 ในประเทศ จำนวนมากถึง 18 ล้านกว่าคัน เฉลี่ยบ้านละ 1 คัน พฤติกรรมที่น่าห่วงและพบเห็นได้ทั่วไปทั้งในเขตเมืองและชนบท คือมักมองข้ามความปลอดภัย โดยจะไม่สวมหมวกกันน็อก แต่จะกางร่มกันฝนขณะขับขี่ หรือซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์แทน ทั้งคนขับกางเอง หรือให้ผู้ซ้อนท้ายกางให้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากร่มบังตา หรือลมพัดหอบร่มปลิว รถเสียหลักและศีรษะฟาดพื้น ทำให้เสียชีวิต หรือพิการตลอดชีวิต

นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า ขณะขับขี่รถจักรยานยนต์และกางร่มฝ่าสายฝนและลมที่พัดแรง จะทำให้ร่มบังตาคนขับ เกิดอุบัติเหตุรถล้มรถเสียหลักลงข้างทาง หรือไปชนท้ายผู้อื่น ร่มอาจหักหรือปลิวไปโดนผู้อื่น หรือลมพัดหอบร่มจนให้รถเสียหลัก นอกจากนี้ ผู้ขับขี่ที่ถือร่ม ต้องบังคับรถมือเดียว เมื่อถนนลื่นจึงไม่สามารถประคับประคองรถได้ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุซึ่งพบได้ทุกฤดูฝน ทั้งประชาชนทั่วไป นักเรียน และบุคลากรทางการแพทย์ จากการสอบถามเหตุผลของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่ใช้ร่มกางกันฝน ส่วนใหญ่บอกว่า สะดวกกว่าใช้เสื้อกันฝนเพราะพับเก็บง่าย และเร่งรีบออกไปทำงาน ทำธุระนอกบ้าน หรือไปเรียนขณะฝนตก

“ขอให้ประชาชนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ใส่เสื้อกันฝน หรือสวมเสื้อแจ็กเกตผ้าร่มแบบกันฝนได้แทนการกางร่มกันฝน และสวมหมวกกันน็อกแบบมีหน้ากาก เพื่อช่วยป้องกันศีรษะเปียก และฝนสาดเข้าใบหน้า เข้าตา หากไม่มีเสื้อกันฝน ให้เตรียมเสื้อผ้าแห้งใส่ถุงไปเปลี่ยนที่ทำงาน หากเป็นไปได้ควรหยุดรถหลบฝน รอให้ฝนซาหรือหยุดตกก่อนแล้วค่อยเดินทางต่อ เพื่อความปลอดภัย” นายวิทยากล่าว

ทั้งนี้ สถิติการเกิดอุบัติเหตุจราจรในปี 2553 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค โดยสำนักระบาดวิทยาได้รายงานข้อมูลอุบัติเหตุจราจร เดือนมกราคม-ธันวาคม 2553 มีผู้เสียชีวิต 10,409 ราย บาดเจ็บ 567,701 ราย โดยข้อมูลระบบการเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับชาติ (IS) พบว่า สัดส่วนผู้บาดเจ็บเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ถึงร้อยละ 82.58 โดยผู้บาดเจ็บรุนแรงที่ไม่สวมหมวกนิรภัยถึงร้อยละ 85.73
กำลังโหลดความคิดเห็น