เมื่อก้าวสู่วัย 60 ปี สังขารย่อมร่วงโรยแก่ชรา โรคภัยต่างๆ รุมเร้า ยิ่งปัจจุบันการแต่งงาน และการมีบุตรลดลง ไร้ลูกหลานที่จะดูแลฝากฝี ฝากไข้ อาชีพพยาบาล หรือผู้ช่วยพยาบาล ผู้ดูแลผู้สูงอายุเหล่านี้ น่าจะเป็นที่ต้องการในอนาคต
แม้ในยามที่เศรษฐกิจไม่ดี ข้าวยาก หมากแพง แต่กลุ่มอุตสาหกรรมแพทย์ ยา และการบริการสุขภาพ ถือเป็นกลุ่มไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก ตราบที่มนุษย์ ยังคงเกิด แก่ เจ็บ และตาย
ผศ.ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยคริสเตียน สถาบันการศึกษาที่จัดตั้งขึ้นโดยมีมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย ให้การสนับสนุน ผู้หญิงเก่งคนนี้ มองโอกาสทางธุรกิจในแวดวงสุขภาพ เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไว้อย่างน่าสนใจว่า ในปัจจุบันโลกมีสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ประมาณร้อยละ 15-20 หรือคิดเป็นจำนวน 400-500 ล้านคน สำหรับในประเทศไทยนั้นได้มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยประชากรตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปได้เพิ่มขึ้นเป็น 7 เท่า หรือประมาณ 7.6 ล้านคน ในปี 2552 และมีการคาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2568 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า คาดว่า จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 14.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 2 เท่าของปี 2552 และในปี 2573 จะมีจำนวน 17.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น อาชีพพยาบาล หรือผู้ช่วยพยาบาลถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก
ผศ.ดร.จันทร์จิรา บอกอีกว่า มหาวิทยาลัยคริสเตียน ถือเป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตองค์ความรู้การบริหารจัดการด้านบริการสุขภาพในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท โดยเฉพาะหลักสูตรการพยาบาลที่เป็นหลักสูตรแรกที่มีชื่อเสียงมากและได้รับการยอมรับ ปัจจุบันผลิตบัณฑิตแล้ว 25 รุ่น จำนวน 2,500 คน ทั้งนี้ การให้บริการถือเป็นจุดแข็งของคนไทย ที่มีน้ำใจไมตรี ชอบช่วยเหลือ จึงเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมีนักศึกษาที่จบไป 6-7% ได้มีโอกาสได้ทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา และเมื่อเรียนจบมาก็ได้งาน 100% อย่างแน่นอน
“สำหรับเด็กที่จะมาเรียนที่นี่ หากภาษาอังกฤษไม่แข็งก็จะมีการเรียนเสริม เพื่อเตรียมความพร้อม เนื่องจากการเรียนการสอนแม้จะไม่ได้เป็นหลักสูตรนานาชาติแต่ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดไปยังหลักสูตรปริญญาโทหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการบริหารโรงพยาบาล และ สาขาการจัดการโลจิสติกส์ ซึ่งจะเป็นการบริการจัดการเรื่องยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดพรมแดนการแข่งขันในอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และบริการสุขภาพ การค้าเสรีอาเซียน หรือ AEC ซึ่งเวลานี้มีประเทศคู่แข่งที่สำคัญ เช่น สิงคโปร์ และ มาเลเซีย”
ผศ.ดร.จันทร์จิรา เล่าอีกว่า สำหรับกระบวนการผลิตมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยคริสเตียนนั้น ไม่ได้เน้นเฉพาะหลักทฤษฎี หรือศึกษากรณีตัวอย่างจริง ประสบการณ์ดูงานต่างประเทศที่เสริมเข้าในหลักสูตรย่อมเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เห็นมุมมองการให้บริการด้านสุขภาพระดับต่างประเทศ ซึ่งมีความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์และยาแตกต่างกันไป โดยได้เดินทางไปดูงานที่ประเทศจีน ยุโรป นอกจากนี้ ยังมีการฝึกฝนภาษาต่างประเทศ ทำให้ไม่เป็นอุปสรรคในการทำงาน
แนวคิดการสร้างความต่างของหลักสูตร คือ ความต่างในเรื่องสาขาวิชา ซึ่งถือได้ว่ามหาวิทยาลัยคริสเตียน เป็นแห่งแรกที่บุกเบิกความรู้ด้านการบริหารสุขภาพ จึงเรียกได้ว่า เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาของมหาวิทยาลัย การเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนคิดนอกกรอบโดยใส่แนวคิดที่ว่าโลกไม่หยุดนิ่งแต่มีวิวัฒนาการทางการแพทย์เรื่อยๆ ยกระดับความรู้ และการทำธุรกิจที่ติดอยู่ในสังคมไทยไปสู่ธุรกิจระดับชาติ
“ตัวอย่างธุรกิจโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกๆ ที่รับดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุชาวต่างชาติและคนไทย สามารถสร้างรายได้จำนวนมาก รวมถึงโรงพยาบาลผู้สูงอายุ กทม.ที่กำลังจะเปิดตัวรองรับผู้สูงอายุ นอกจากนั้น ยังอาจเกิดอาชีพใหม่ๆ เช่น ธุรกิจอาหารเสริม อุปกรณ์นวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสูงอายุ เช่น ไม้เท้า โทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่คอนโด สถานรับเลี้ยงดูคนชราก็น่าสนใจไม่น้อย” ผศ.ดร.จันทร์จิรา ทิ้งท้าย