xs
xsm
sm
md
lg

สอศ.งัด 4 มาตรการแก้ปัญหาอาชีวะตีกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สอศ.เรียกวิทยาลัยอาชีวศึกษา ในพื้นที่เสี่ยงมาประชุม กำหนด 4 แนวทาง เป็นมาตรการรับมือปัญหา นร.ยกพวกตีกัน สั่ง วท.ส่งแผนดูแล นร.ให้เสร็จภายใน 22 มิ.ย.พร้อมให้ทำบัญชีประวัติ นร.กลุ่มเสี่ยง และเตรียมจัดระเบียบการลงโทษบนมาตรฐานเดียวกัน
แฟ้มภาพ
วันนี้ (19 มิ.ย.) นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เรียกผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษา 20 แห่งซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยง มีนักศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาทมาหารือ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ เพราะ สอศ.ได้รับนโยบายจาก ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้เร่งแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักศึกษาทั้งที่สังกัด สอศ.และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยมีนโยบายว่าเด็กที่เรียนอาชีวศึกษาจะต้องได้เรียนอย่างมีคุณภาพ มีความสุขและปลอดภัย

ทั้งนี้ สอศ.ได้ร่วมกับวิทยาลัยทั้ง 20 แห่งนำนโยบายสู่การปฏิบัติโดยวางแนวทางไว้ 4 แนวทาง ดังนี้ แนวทางแรก เป็นมาตรการให้วิทยาลัยปฏิบัติตาม โดยกำหนดให้วิทยาลัยกลุ่มเสี่ยงทำแผนการดูแลนักเรียนนักศึกษาตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียนก่อเหตุทะเลาะวิวาทของ สอศ.ให้เสร็จภายในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ โดยวางเป้าหมายไว้ว่า ภายใน 3 เดือนจากนี้จะต้องไม่มีเหตุทะเลาะวิวาทและเหตุรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน สอศ.จะส่งหนังสือเวียนให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาทุกแห่งทั้งที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและทั่วประเทศอยู่ประจำในวิทยาลัย หรืออยู่ในพื้นที่ หากเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้น จะได้เข้าไปดูแลระงับเหตุได้ทันกาล ทั้งนี้ ให้แต่ละวิทยาลัยกำหนดแผนเผชิญเหตุเพื่อสนองตอบทันทีเมื่อเกิดเหตุรุนแรง และให้ใช้มาตรการสุ่มตรวจอาวุธอย่างต่อเนื่อง ทั้งติดต่อประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายนักศึกษา อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา

แนวทางที่ 2 แนวทางดูแลเด็กลุ่มเสี่ยง ซึ่งที่ประชุมกำหนดให้ทุกวิทยาลัยจัดทำบัญชีและประวัตินักศึกษากลุ่มเสี่ยง และเชิญผู้ปกครองเด็กมาหารือถึงมาตรการดูแลเด็ก โดยในส่วนของเด็กที่เป็นแกนนำและเด็กที่เป็นแนวร่วม จะต้องมีวิธีการดูแลที่แตกต่างกัน

“สอศ.จะปรับมาตรการลงโทษนักเรียนให้เอาจริงเอาจังมากขึ้น เพราะเมื่อเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้น บทลงโทษก็จะต้องเข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงโทษนักเรียน นักศึกษา ต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักศึกษา พ.ศ.2548 แต่ระเบียบดังกล่าวแค่กำหนดกว้างๆ ให้ลงโทษนักเรียน 4 ระดับ คือ ว่ากล่าว ตัดคะแนน ทำทัณฑ์บน และทำกิจกรรมปรับพฤติกรรม โดยไม่มีโทษพักการเรียนและไล่ออก ทั้งนี้ แต่ละวิทยาลัยต้องไปพิจารณาเองว่า ความผิดไหนจะลงโทษระดับใด ซึ่งพบว่า แต่ละวิทยาลัยกำหนดบทลงโทษพฤติกรรมของนักศึกษาที่ก่อเหตุแตกต่างกัน บางแห่งจึงได้ผลบางแห่งไม่ได้ผล ดังนั้น สอศ.จะรับหน้าที่ประสานเพื่อกำหนดบทลงโทษของทุกวิทยาลัยไปในแนวทางเดียวกัน และจะอาศัยนักจิตวิทยามาช่วยปรับปรุงพฤติกรรมนักศึกษาด้วย” นายชัยพฤกษ์ กล่าว

นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า แนวทางที่ 3 นั้น จะเป็นแนวปฏิบัติภาพรวมสำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษาทุกคน โดยกำหนดนักศึกษาทุกคนฝึกปฏิบัติธรรมในแต่ละศาสนาของตนเอง และขอความร่วมมือจากทหารช่วยฝึกระเบียบวินัย และแนวทางสุดท้าย เป็นแนวปฏิบัติสำหรับ สอศ.ซึ่งจะทำหน้าที่ประสานหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้ง ทหาร ตำรวจ กรมสุขภาพจิต และให้การสนับสนุนวิทยาลัยต่างๆ ในการควบคุมป้องปรามพฤติกรรมนักศึกษา รวมทั้งรับหน้าที่วางแนวทางการกำหนดมาตรการลงโทษนักศึกษาของทุกวิทยาลัยไปในแนวทางเดียวกัน

“ทุกวิทยาลัยจะต้องส่งแผนการป้องกันนักศึกษาทะเลาะวิวาทให้ สอศ.ภายในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ เพื่อที่ สอศ.จะได้ดูความเป็นไปได้ว่าจะป้องกันเหตุรุนแรงได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อได้รับอนุมัติแผนแล้วก็เท่ากับเป็นพันธะสัญญาของผุ้บริหารที่จะต้องดูแลนักศึกษาของตนเอง เพราะฉะนั้น หากในช่วง 3 เดือนที่กำหนดไว้เกิดเหตุทะเลาะวิวาท ก็จะดูว่า วิทยาลัยทำตามแผนอย่างจริงจังและเต็มที่แล้วหรือไม่ หากพบว่า ผู้บริหารไม่เอาจริงเอาจังตามแผน ก็จะใช้มาตรการทางการบริหารจัดการกับผู้บริหารวิทยาลัยต่อไป” นายชัยพฤกษ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น