กรมจิตฯ หวั่นคนไทยป่วยโรคติดพนันบอล หลังพบ โพล ม.กรุงเทพ ชี้ เยาวชน 15-25 ปี ต้องการเล่นพนัน จิตแพทย์ ย้ำ รักษายากกว่ายาเสพติด เหตุมีปัจจัยร่วมมาก
วันนี้ (8 มิ.ย.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต และคณะผู้บริหารกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในงานแถลงข่าว เนื่องในเทศกาลแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ว่า ช่วงเทศกาลแข่งขันฟุตบอลดังกล่าวเป็นที่รอคอยของแฟนบอลทุกคน ซึ่งแต่ละเทศกาลจะพบว่า ปัญหาเรื่องการพนันมีทุกครั้ง แต่ที่กังวล คือ โรคติดพนันบอล โดยข้อมูลจากการสำรวจของกรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่สนใจกีฬาฟุตบอล จำนวน 1,133 ตัวอย่าง เรื่อง“คอบอลไทยกับการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012” กรณีการเล่นการพนันฟุตบอล พบว่า ร้อยละ 27.5 ระบุคิดว่าจะเล่นพนัน โดยกลุ่มที่ระบุจะเล่นการพนันฟุตบอล เป็นผู้ที่มีอายุ 15-25 ปี มากสุด ร้อยละ 10.1, อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 8.9, อายุ 36-46 ปี ร้อยละ 5.6 และอายุ 46 ปีขึ้นไป ร้อยละ 2.9 สำหรับจำนวนเงินที่คาดว่าจะเล่นพนันแต่ละครั้ง พบว่า มากสุดร้อยละ 32.2 ระบุจำนวน 101-500 บาท รองลงไปร้อยละ 22.1 จำนวน 51-100 บาท และร้อยละ 14.8 จำนวน ไม่เกิน 50 บาท ซึ่งถือเป็นปัญหาที่น่าห่วง และอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรค “ติดพนัน (Pathological Gambling)” ทั้งผู้ที่เป็นนักพนันอยู่แล้วหรือผู้ที่กำลังจะเป็นนักพนันหน้าใหม่
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า โรคติดการพนัน (Pathological Gambling) เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะไม่สามารถต่อต้านแรงกระตุ้น หรือความอยากของตนเอง จะหมกมุ่นเหมือนกับผู้ป่วยย้ำคิดย้ำทำ ผู้ป่วยติดสุราหรือสารเสพติด ซึ่งกลไกที่ทำให้เกิดความผิดปกติของสมองเหล่านี้จะคล้ายกัน คือ สมองส่วนอยากทำงานเหนือสมองส่วนคิด ผู้ที่ติดการพนันจะควบคุมแรงกระตุ้นที่อยากจะเล่นการพนันไม่ได้ จนส่งผลเสียต่อชีวิตในด้านต่างๆ โดยปัญหาดังกล่าวน่าห่วง เพราะเกิดกับเด็กวัยรุ่น เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีรายได้ และอยู่ในวัยกำลังเรียน ที่อาจจะกระทบต่อเวลาในการศึกษาได้ เพราะปัจจุบันสื่อยั่วยุ และสภาพแวดล้อมในการก่อเกิดความต้องการเล่นการพนันก็มีมากขึ้น
นพ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเกิดโรคติดพนัน ได้แก่ 1.พันธุกรรม จากการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยที่ติดการพนันมักมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมร่วมด้วย 2.สังคม สิ่งแวดล้อม ผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เล่นการพนัน เช่น บ้านเป็นบ่อนการพนัน หรืออยู่ในย่านชุมชน เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนฝูงเล่นการพนันมักจะถูกสิ่งแวดล้อมดังกล่าวชักจูงให้เล่นการพนันได้ง่ายขึ้น 3.สิ่งยั่วยุต่างๆ ทั้งจากสื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ นิตยสารเฉพาะกลุ่มกีฬาและมีการวิเคราะห์พฤติกรรม หรือเกมการเล่นของแต่ละทีม พร้อมทั้งอาจมีการทำนายแนวโน้มผลการแข่งขันมีส่วนยั่วยุให้คนที่ มีแนวโน้มจะเล่นการพนันอยู่แล้วถูกกระตุ้นให้เล่นการพนัน และผู้ที่เล่นอยู่แล้วเล่นในปริมาณที่มากขึ้น และ 4.ระบบสารเคมีในสมองผิดปกติ คือ เกิดการหลั่งสารโดปามีนในสมองมาก ซึ่งเป็นสารที่ทำให้บุคคลรู้สึกตื่นเต้น เป็นสุข สนุกสนาน ขณะที่สารสื่อประสาทสมอง ชื่อ ซีโรโทนินลดลง ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้บุคคลมีความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนติดการพนัน
นพ.ประเวศ ตันติพิพัฒนสกุล โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจัยที่สามารถนำไปสู่การติดพนัน มี หลายด้าน ทั้ง 1.บรรยากาศ เช่น กิจกรรมการแข่งขันต่างๆ ตามกระแสที่สังคมพยายามสร้างขึ้น เช่น การเล่นเกมทายผล การประโคมข่าวของสื่อ ซึ่งมีส่วนทำให้บางคน คิดว่า ไม่ทันกระแสจะเชย ส่วนวงพนันก็จะมีการสร้างภาพ ว่า ไม่เล่นพนันจะเชยเช่นกัน 2.การยับยั้งช่างใจของตัวผู้เล่นเอง ปัจจัยส่วนนี้มีความแตกต่างกันไป บางคนไม่สามารถจะยับยั้งใจได้เลย ประเภทต้องเล่นทุกเทศกาล ตามแบบการพนันที่ตนชื่นชอบ เช่น ชอบบอลก็ต้องเล่น ทุกการแข่งขัน ทั้งบอลโลก บอลยูโร บอลไทย ซึ่งพอเริ่มชอบในกิจกรรมก็จะรู้สึกสนุก ในการร่วมเล่นพนัน ไม่รู้สึกว่ากำลังป่วยเป็นโรคติดอยู่ คือ อาการเสพติดจะคล้ายคนติดกาแฟ สุรา ที่ต้องทำจนชิน
“โดยจากข้อมูลล่าสุด ระบุว่า ประชากรไทย 3 ใน 4 เคยเล่นการพนันอยู่แล้ว โดยพบว่า ปัจจัยร่วมด้านสมองก็มีผลต่อการเล่นไม่น้อยเช่นกัน คือ สมองของทุกคนจะมีสารเร่งเร้าอยู่ เพื่อทำให้เกิดอารมณ์ตื่นเต้น และอยากลอง ซึ่งในผู้ที่ติดพนัน หรืออยากเล่นพนันจะมีการเร่งเร้ามากกว่ากลุ่มอื่น และช่วงอายุ 10 กว่าปี ขึ้นไป พัฒนาการทางสมองจะยังไม่หยุดนิ่ง จึงมีการเร่งเร้าที่วัยกว่า วัยผู้ใหญ่ ที่เลยช่วง 25 ปี โดยในวัยรุ่นจะมีการเร้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อท้าทายให้ทำกิจกรรม และส่งผลให้เกิดการลงมือทำซ้ำ เหมือนๆ กับช่วงเวลาที่สมองสั่งให้เรียนรู้ในบางอย่างแบบเดิม หากถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็ก หรือยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยกิจกรรมการพนันก็จะมีผลให้ติดง่ายขึ้น และเกิดต่อเนื่องจนกระทั่งวัยผู้ใหญ่
นพ.ประเวศ สำหรับวิธีการสังเกตว่า ป่วยถึงขั้นเป็นโรค หรือไม่ดูได้ง่ายๆ คือ อาการติดพนันจะเกิดขึ้นซ้ำ จนกระทั่งเกิดปลกระทบต่อชีวิต ทำให้ชีวิตประจำวันไม่เป็นระบบ ระเบียบ เช่น กินหรือนอนไม่ตรงต่อเวลา ไปเรียน และทำงานไม่ได้ ต้องขาด ต้องลา หรือกรณีที่เป็นพ่อบ้าน แม่บ้านก็จะไม่มีเวลาเลี้ยงลูกและทำกิจกรรมอย่างอื่น นอกจากนี้ ยังแสดงอาการของระบบเงินที่ระส่ำระส่าย ไม่เป็นที่ เช่น ติดภาระหนี้สิน นำทรัพย์ไปแปรรูปเป็นเงิน เพื่อมาเล่นพนัน มีช่วงจังหวะ รวย จน ที่ไม่คงที่ รายได้เก็บไม่อยู่ เงินจ่ายออกเพื่อพนันเป็นส่วนมาก หรือหากในวัยสูงอายุก็จะมีการถอนเงินในอนาคตมาใช้ ขณะผลกระทบด้านสุขภาพกายและใจ ก็มีทั้งเสื่อมโทรม อดหลับอดนอน มีอารมณ์แปรปรวน ไม่แน่นอน
ขณะที่พญ.บุญสิริ จันศิริมงคล แพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานยาเสพติดและสุรา สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ในการรักษาโรคติดพนัน นั้น จะยากกว่ายาเสพติด โดยต้องใช้เวลาในการรักษานานอย่างน้อย 4-6 เดือน หรือบางรายต้องใช้เวลาเป็นปี เพราะมีปัจจัยการเกิดโรคหลายอย่าง จึงต้องเริ่มบำบัดตั้งแต่ระดับอารมณ์ด้วยการใช้ยา ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอารมณ์ 2 ขั้ว ซึ่งหลังจากการใช้ยาช่วยแล้ว ในเรื่องการรักษาระดับจิตสังคม ก็ต้องใช้เวลานาน เพื่อให้ผู้ป่วยปรับตัว แต่ปัญหา คือ โรคติดพนันในระดับแรกๆ ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัว เหมือนโรคติดยาเสพติด จึงมักไม่เข้ามาปรึกษาในช่วงเริ่มต้น แต่จะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการร่วม เช่น หงุดหงิด และคุมสติไม่อยู่ หรืออาจซึมเศร้า ซึ่งจิตแพทย์ต้องอาศัยเวลาในการหาสาเหตุด้วย
นพ.วิวัฒน์ ยถาภูธานนท์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในประเทศไทยไม่มีการสำรวจตัวเลของการเกิดโรคติดพนันไว้เป็นข้อมูล แต่ในอเมริกามีการสำรวจแล้วพบว่า 3% ของประชากร ติดพนัน แต่โดยภาพรวมแล้ว คาดว่า ประชากรที่เป็นโรคติดพนันนั้นมี 3% ส่วนอีก 97% แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง มีแนวโน้มที่จะติดพนัน และส่วนที่ 2 เป็นผู้ที่เคยเล่นพนัน แต่ไม่มีแนวโน้มจะติด เช่น เล่นหวยใต้ดินบ้าง แต่ไม่มีการทำซ้ำบ่อยๆ ดังนั้น จึงอยากฝากว่า ให้ทำทุกอย่างด้วยความระมัดระวัง อย่าให้กระแสใดๆ มาทำให้ต้องหมดเนื้อหมดตัว