วัดดวงแจก “แท็บเล็ต” ป.1
ผลวิจัยไม่ช่วยอะไรในยุคนี้!?!
…เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ
การแจกแท็บเล็ตให้กับเด็กชั้น ป.1 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม และไม่คุ้มค่า โดยที่มีข้อมูลทั้งผลวิจัยในต่างประเทศ ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ฯลฯ สนับสนุนแน่นปึ้ก แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยอะไร อาจเพราะข้อมูลเหล่านี้สวนทางกับนโยบายของพรรคการเมืองที่ได้โฆษณาชวนเชื่อ จนทุกคนเอาแต่เฝ้าตั้งตารอของเล่นชิ้นใหม่
แต่เสียงทัดทานก็มากมี ในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็มอบหมายให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ทำการศึกษาวิจัย “โครงการนำร่อง การประยุกต์ และบูรณาการคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต เพื่อการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา” ตามแนวนโยบายของรัฐบาล ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นระยะเวลาอันสั้นในศึกษาวิจัยพร้อมกับสังเคราะห์ เพื่อให้การนำเสนอง่ายต่อความเข้าใจ
โดย ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดี มศว ยอมรับว่า ผลวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงงานวิจัยเกรดซี หรือบีเท่านั้น แต่ก็ถือว่ายังดี ซึ่งต้องเครดิตให้แก่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต รมว.ศธ.ที่ได้มอบหมายให้ มศว ทำการศึกษาวิจัยนั่นเท่ากับว่ารัฐบาลต้องการให้สังคมได้รับรู้ถึงประโยชน์และผลกระทบต่อการใช้แท็บเล็ต
ผศ.นพ.เฉลิมชัย เปิดเผยถึงผลการศึกษาวิจัย ที่ใช้เวลากว่า 7 สัปดาห์ (เดือนมกราคม-มีนาคม 2555) ซึ่งปรากฏผลพร้อมด้วยข้อเสนอเชิงนโยบายที่ทางผู้วิจัยสรุปเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล แต่ทว่า...ช้าเกินกว่าที่รัฐบาลจะรอไหว และไม่สามารถยืนยันได้เสียด้วยว่า รอคำตอบอยู่หรือไม่?
ทั้งนี้ มศว ทำการศึกษาวิจัยกับนักเรียน 2 ช่วงชั้น คือ ชั้น ป.1 และ ป.4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 ใน 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนราชวินิต (ฝ่ายประถม) กรุงเทพมหานคร โรงเรียนอนุบาลลำปาง จ.ลำปาง โรงเรียนอนุบาลพังงา จ.พังงา โรงเรียนสนามบิน จ.ขอนแก่น และโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ฝ่ายประถม โดยศึกษาทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ ด้วยวิธีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลโดยตรงและจากแบบทดสอบการตรวจสุขภาพ วิธีการสังเกต สัมภาษณ์ รวมถึงศึกษาความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากนักเรียน ครูผู้สอน ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา
นอกจากนี้ ทั้ง 5 โรงเรียนนั้นไม่ได้อนุญาตให้นักเรียนทั้ง 2 ระดับชั้นนำแท็บเล็ตกลับบ้าน เพราะฉะนั้น ใครที่อยากจะรู้ว่าเด็กจะติดเกม หรือเก็บรักษาของได้ หรือไม่หากนำแท็บเล็ตกลับบ้านตามนโยบาย ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ ที่ให้เด็ก ป.1 ที่ได้รับแจกแท็บเล็ตเอากลับบ้านได้จึงไม่มีผลให้ลุ้น! เพราะคำตอบส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องการตอบสนองที่เกิดกับผู้ใช้งาน
โดย ผศ.นพ.เฉลิมชัย อธิบายในภาพรวม ว่า “ในด้านผู้เรียน ทั้ง 2 ระดับเด็กมีความสนใจใฝ่รู้ สนในเรื่องเทคโนโลยี มีความสุขและกระตือรือร้นในการเรียน และไม่พบปัญหาการติดเกมด้วย แต่ในระดับ ป.4 จะเรียนรู้ได้รวดเร็วกว่าเด็ก ป.1 ส่วนในด้านสุขภาพ แม้จะพบว่านักเรียนมีการปวดตา เคืองตา น้ำตาไหล แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่าสาเหตุมาจากการใช้แท็บเล็ต เนื่องจากได้มีการสำรวจกับนักเรียนในกลุ่มที่ไม่ได้ใช้แท็บเล็ต แต่มีการใช้สายตามองวัตถุระยะใกล้เหมือนก็พบอาการในลักษณะเดียวกัน”
“ขณะที่ในส่วนของครูนั้น พบว่า การสอนของครูจำเป็นต้องพึ่งช่างเทคนิคมาช่วย เพราะยังขาดความชำนาญในการใช้แม้จะมีการฝึกอบรมไปแล้ว แต่เมื่อเกิดปัญหาติดขัดระหว่างการสอนครูยังไม่สามารถแก้ไขได้ สุดท้ายต้องวางแท็บเล็ตแล้วกลับไปใช้หนังสือมาสอนดังเดิม เพราะฉะนั้น เมื่อแจกแท็บเล็ตผมเสนอว่าทุกโรงเรียนควรจะต้องมีช่างเทคนิคประจำ เพื่อช่วยเหลือแนะนำครูและการอบรมครูจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้เท่าทันเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม ครูมีทัศนคติที่ดีกับแท็บเล็ต เพราะมองว่าเป็นเครื่องมือที่มาช่วยแบ่งเบาภาระไม่ได้มาเป็นตัวแทนของครู และยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครู และนักเรียน ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งช่วยให้นักเรียนเรียนรู้แบบ Learning by Doing อย่างแท้จริง” อธิการ มศว กล่าว
ผศ.นพ.เฉลิมชัย ยอมรับว่า ผลการศึกษาไม่ปรากฎผลกระทบในเชิงลบอย่างชัดเจน ทั้งในชั้น ป.1 และ ป.4 เนื่องจากระยะเวลาในการใช้แท็บแล็ตยังไม่นานพอ เป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้นระยะที่ 1 เท่านั้น แต่หากพูดถึงความคุ้มค่าแน่นอนว่า ผลการศึกษาปรากฏชัดเจนว่า การแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้น ป.4 คุ้มค่ากว่า ป.1 เพราะฉะนั้น แม้ตอนนี้รัฐบาลได้ตัดสินใจแล้วว่าจะแจกเด็ก ป.1 ก็เป็นหน้าที่รัฐบาลจะตอบคำถามสังคมเองว่าเพราะอะไร และหากรัฐบาลสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยต่อเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เข้มข้นขึ้น มศว ก็ยินดี
สุดท้ายนี้ได้แต่เพียงหวังว่า...รัฐบาลจะหันมาเหลียวมองและนำผลวิจัยที่ มศว ได้ไปทำการศึกษามาทำให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงแต่ให้ไปศึกษาเพื่อลดแรงเสียดทานของสังคมที่เกิดขึ้นเท่านั้น