xs
xsm
sm
md
lg

เด็กบดินทรฯฟ้อง ศธ.ถูกลอยแพ ไม่ได้เรียนต่อ ม.4

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นร.บดินทรเดชา ควงผู้ปกครองฟ้อง ศธ.ถูกโรงเรียนลอยแพหลังจบ ม.3 กว่า 200 ชีวิต ไม่ได้เรียนต่อ ม.4 แฉ ผอ.เคยสัญญาให้เรียนต่อหากทำกิจกรรมเพื่อโรงเรียนโดยไม่ดูเกรดเฉลี่ย “มงคลกิตติ์” จี้ต้องตอบคำถามใน 2 วัน โดยเด็กต้องได้เรียนต่อทั้งหมด ด้าน ผอ.ร.ร.ยันไม่เคยสัญญา บอกคัดเลือกและตัดสิทธิ์เด็กตามเกรดเฉลี่ยจริง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของชาติ (ภตช.) พร้อมด้วยกลุ่มเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และตัวแทนนักเรียนที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนบดินทรเดชาฯ กว่า 20 คน เดินทางเพื่อขอเข้าพบและยื่นหนังสือต่อ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อเรียกร้องขอให้ช่วยเหลือนักเรียน เข้าเรียนต่อ ม.4 ในโรงเรียนเดิม แต่เนื่องจาก รมว.ศึกษาธิการ ติดราชการจึงมอบหมายให้ นายประแสง มงคลศิริ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ รับเรื่องแทน

นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า การที่ผู้ปกครองออกมาเรียกร้องครั้งนี้ เพราะต้องการทวงสิทธิ์ให้กับนักเรียน ม.3 โรงเรียนบดินทรเดชาฯ อีกกว่า 200 คน ที่ไม่มีที่เรียน โดยโรงเรียนดังกล่าวมีนักเรียนจบชั้น ม.3 จำนวน 884 คน แต่แผนการรับนักเรียน ม.4 รับได้ 880 คน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นนักเรียนเรียนห้องปกติ 16 ห้องๆ ละประมาณ 50 คน และห้องพิเศษ 2 ห้องๆ ละ 36 คน รวมแล้วเป็น 880 คน ดังนั้น จะสังเกตเห็นได้ว่า เด็กเก่ามี 884 คน ซึ่งห่างกัน 4 คน เมื่อมีการคัดเลือกเด็กที่จบ ม.3 ที่มีสิทธิ์เรียนต่อโดยดูจากเกรดเฉลี่ยรวมแล้วได้นักเรียน 556 คน สอบคัดเลือกทั่วไป 150 คน ซึ่งปรากฏว่า ภายหลังเด็ก ม.3 เก่าสละสิทธิ์ 88 คน เหลือที่นั่ง 796 คน ดังนั้น เด็กนักเรียนเดิมก็ควรจะมีสิทธิ์อันชอบธรรม ที่จะได้เลื่อนอันดับขึ้นไปทั้งหมด

น่าสังเกตว่า การประกาศสละสิทธิ์ 88 คน ก็ควรเลื่อนอันดับตั้งแต่ 557 ไปจนถึงอันดับที่ 664 ไปแทน และยังเหลือเด็กเก่าอีกกว่า 200 กว่าคนที่ยังไม่มีที่เรียน เด็กกลุ่มนี้ต้องไปสอบแข่งขันกับนักเรียนทั่วไป ซึ่งเชื่อว่า เป็นเด็กเก่าที่มาสอบทั้งหมด โดยจะรับแค่ 150 คนเท่านั้น และเป็นการไปทับสิทธิ์ที่นั่งของเด็กเก่า เพราะฉะนั้น เด็กที่ไม่มีที่นั่งเรียน 200 คน กับสิทธิ์อีก 150 ที่นั่ง โรงเรียนยังเหลือที่นั่งว่างอีก 70 ที่นั่ง กับอัตราเดิมของเด็กสละสิทธิ์ไป 88 ที่นั่ง โรงเรียนสามารถรับเด็กเก่าได้ทั้งหมดเลย และยังเหลือที่นั่งว่างอีก 70 ที่นั่ง ซึ่งโรงเรียนสามารถเรียกรับเด็กนักเรียน ตามเงื่อนไขพิเศษ เช่น จะรับเงิน หรือจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ทางเครือข่ายจะไม่ว่าเลย แต่ขอแค่ให้เด็กเก่าได้สิทธิ์ที่จะเรียนต่อเหล่านั้นคืน” นายมงคลกิตติ์ กล่าว

นายมงคลกิตติ์ กล่าวอีกว่า ทางเครือข่ายฯ ให้เวลา ศธ.2 วัน หลังจากที่มามอบหนังสือร้องเรียนแล้ว เพื่อให้ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าไปตรวจสอบข้อมูล และเงื่อนไขสำคัญคือต้องให้นักเรียนเหล่านี้ได้เรียนที่โรงเรียนบดินทรฯ ทั้งหมด

ตัวแทนผู้ปกครองรายหนึ่ง กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางโรงเรียนเคยเรียกประชุมผู้ปกครอง และ ดร.สุวัฒน์ วิวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียน เคยแจ้งว่า จะให้เด็กนักเรียนที่ทำกิจกรรมทั้งหมดได้มีโอกาสเลื่อนขึ้นชั้น ม.4 ในโรงเรียนเดิมโดยที่ไม่ต้องสอบแข่งขัน และไม่ต้องดูเกรดเฉลี่ย เพราะเด็กที่ทำกิจกรรมส่วนใหญ่จะมีผลการเรียนปานกลาง เนื่องจากให้เวลากับการทำกิจกรรมวงโยธวาทิต และกิจกรรมโขน แต่พอช่วง ม.2 เทอมปลาย ได้เรียกประชุมอีกครั้ง และกลับคำ โดยบอกว่าเด็กนักเรียนที่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 3.00 ต้องไปสอบแข่งขันเพื่อที่จะได้เรียนต่อโรงเรียนเดิม ทำให้เด็กนักเรียนต้องเลิกทำกิจกรรม แล้วเร่งตั้งใจเรียนในปีสุดท้ายจนทำคะแนนได้ 3.00 แต่เมื่อคิดเป็นเกรดเฉลี่ยรวมแล้วก็ไม่ถึง 3.00 จึงขอเรียกร้องให้โรงเรียนรับผิดชอบต่อคำพูดที่เคยพูดไว้ และควรจะให้สิทธิ์กับเด็กเก่าซึ่งเป็นเด็กกิจกรรมที่ทำชื่อเสียงให้โรงเรียนได้เข้าเรียนก่อน ทั้งๆ ที่ยังมีที่นั่งเพียงพอสำหรับเด็กเก่าทั้งหมด แต่กลับกันที่นั่งไว้สำหรับคนที่จ่ายเงินให้โรงเรียนได้เข้าเรียน

ด้าน ตัวแทนนักเรียน กล่าวว่า ที่ผ่านมา อาจจะให้เวลากับการทำกิจกรรมโขนมาก ซึ่งตนทำกิจกรรม เพราะผู้อำนวยการโรงเรียนให้ความหวังว่าจะช่วยให้เด็กที่ทำกิจกรรมทุกคนได้เรียนต่อ ม.4 โดยให้เด็กที่ทำกิจกรรมลงชื่อทุกคน แต่พอขึ้น ม.3 กลับมาบอกว่าช่วยไม่ได้ ตนจึงต้องออกจากกิจกรรมโขน เมื่อขึ้น ม.3 ตนจึงหันมาตั้งใจเรียน เลิกทำกิจกรรม ทำให้ได้ผลการเรียน 3.09 แต่เมื่อมาเฉลี่ยกันแล้วไม่ถึง 3.00 ก็ทำให้ไม่อยู่ในอันดับที่โรงเรียนกำหนดคือ 556 คน

“ผมก็ไปสอบแข่งขันรวมกับนักเรียนที่อื่นๆ ซึ่งมาสอบกัน 900 คน แต่โรงเรียนรับเพียง 150 คน แต่ผมคะแนนไม่ถึงก็เลยไม่มีชื่อ ซึ่งผมมองว่าควรจะให้เด็กนักเรียนทุกคนที่เคยอยู่โรงเรียนเดิมเรียนต่อ ม.4 ทั้งหมด เพราะพวกผมทำกิจกรรมก็เพื่อโรงเรียนทั้งนั้น เราทำกิจกรรมให้โรงเรียน เราก็รักและผูกพันจึงอยากอยู่ต่อ ถ้า สพฐ.จะหาโรงเรียนอื่นๆ ให้ไปเรียน ผมก็ไม่อยากไปแล้ว เพราะผมตั้งตัวไม่ทัน”

ด้าน ดร.สุวัฒน์ กล่าวว่า การรับนักเรียน ม.4 ปีการศึกษา 2555 นั้น โรงเรียนยึดตามประกาศที่ สพฐ.กำหนด คือ ใช้คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ต้น หรือ GPAX 80% และคะแนนโอเน็ต 20% ซึ่งโรงเรียนได้มีการคำนวณคะแนนทั้งหมดเหล่านี้ของนักเรียนระดับ ม.3 ทุกคนที่จบจากโรงเรียน จำนวน 884 คน พร้อมนำประกาศขึ้นเว็บไซต์ของโรงเรียน ซึ่งในการรับนักเรียน ม.4 นั้น ปีนี้เปิดทั้งสิ้น 16 ห้องเป็นห้องเรียนปกติ 14 ห้อง และห้องเรียนพิเศษ 2 ห้อง โดยจะคัดเลือกนักเรียนที่จบ ม.3 เดิมจำนวน 556 คนโดยคัดเลือกจากคะแนนที่สูงที่สุด คือ อันดับ 1 เกรดเฉลี่ย 4.00 จนมาถึงอันดับที่ 556 เกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.12 จากนั้นจะคัดจากการสอบทั่วไปจำนวน 150 คน อย่างไรก็ตาม ในจำนวน 556 คนที่คัดเลือกไว้แล้วนั้นมีนักเรียนที่สละสิทธิ์ เนื่องจากสอบเรียนต่อที่โรงเรียนอื่นๆ ได้ เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ฯลฯ จำนวน 88 คน ซึ่งโรงเรียนก็เรียกนักเรียนในลำดับที่ 557 ลงไปจนครบตามจำนวนซึ่งกระบวนการทั้งหมด

“ทุกปีจะมีกรณีที่เด็กที่เหลือเป็นประจำ ที่ผ่านมา ผมได้มีการประชุมทำความเข้าใจกับผู้ปกครองมาโดยตลอดตั้งแต่อยู่ ม.2 และกระทั่งขึ้น ม.3 เพื่อให้เข้าใจระบบและแผนการรับนักเรียนของโรงเรียน ซึ่งปีนี้นั้นโรงเรียนคัดเลือกโดยดูจากคะแนนเป็นหลัก เพราะฉะนั้น เรายืนยันความถูกต้องโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่า ผู้ปกครองคาดการณ์จากตัวเลขพยากรณ์ว่าปีนี้จะมีนักเรียนที่สอบได้ที่อื่นแล้วสละสิทธิ์มากประมาณ 100 กว่าคนเหมือนทุกปี แต่ปีนี้ต่างกันเพราะเด็กเก่าไม่ค่อยนิยมออกไปสมัครสอบที่อื่นมีเพียง 88 คนเท่านั้น ทำให้ลำดับที่เรียกต่อมาจึงไม่มาก” ผอ.โรงเรียนบดินทรฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่นักเรียนระบุว่า ทางโรงเรียนแจ้งว่า หากนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียน เช่น วงโยธวาทิต โขน วอลเลย์บอล จะได้รับพิจารณาเข้าเรียนต่อ ม.ปลาย โดยไม่จำเป็นต้องดูเกรดเฉลี่ย ดร.สุวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง ตนไม่เคยพูดเช่นนั้นแน่นอนว่า การรับนักเรียนเข้าเรียนต่อจะมีการจัดสรรโควตาให้กรณีเงื่อนไขพิเศษ เช่น ผู้มีอุปการคุณ ทำคุณประโยชน์ ฯลฯ ซึ่งรวมถึงเด็กที่ร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียนเหล่านี้ก็จะได้รับการพิจารณาคัดเลือก แต่นั่นอยู่ภายใต้เงื่อนไขการรับนักเรียนที่กำหนด ปีนี้ก็มีนักเรียนที่ร่วมกิจกรรมเหล่านี้และมีผลคะแนนในระดับที่กำหนดผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนต่อจำนวน 35 คนด้วย

“ผมทำหน้าที่บริหารโรงเรียนมาหลายปี เป็นผู้บริหารโรงเรียนดังๆ มาถึง 9 แห่ง ไม่พลั้งปากไปสัญญาอะไรแบบนี้แน่นอน ไม่ใช่ไม่อยากช่วยนักเรียน แต่เราได้ทำตามขั้นตอนยึดผลคะแนน แม้กระทั่งลูกครูของโรงเรียน 3 คนคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดก็เข้าไม่ได้เช่นกัน ต้องรอไปเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่อขอมติ จะให้เข้าเรียนทุกปีก็มีผู้ปกครองมาขอให้ช่วยสิ่งใดช่วยได้ผมก็ช่วย เช่น ปีที่ผ่านมามีกรณีเด็กแฝดคนหนึ่งสอบได้แต่อีกคนสอบไม่ได้ ผมก็ช่วยเพราะเป็นเรื่องคุณธรรม อย่างในปีนี้ก็มีกรณีนี้เช่นกันแต่ผมก็ไม่สามารถพิจารณาช่วยได้เช่นปีที่แล้ว เพราะไม่อยากให้เกิดคำถามกับผู้ปกครองที่มาร้องเรียน”
กำลังโหลดความคิดเห็น