ศจย.เตือนซ้ำ “ควันบุหรี่มือสาม” อันตรายสุดลูกหลานในบ้าน ส่งผลป่วยภูมิแพ้ หรือหอบหืดได้ ย้ำผลการศึกษาสถานที่เปิดให้คนสูบบุหรี่ ทั้งผับ ห้องน้ำสาธารณะ มีโอกาสที่ควันบุหรี่จะฝังในวัสดุ และสิ่งของมากที่สุด
ทพ.ญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฎ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึงปัญหาควันบุหรี่มือสาม ว่า ยังคงเป็นปัญหา แม้ที่ผ่านมา ศจย.และภาคีเครือข่ายต่างๆ จะออกมาเตือนถึงอันตรายของควันบุหรี่ดังกล่าวที่ไม่แพ้ควันบุหรี่มือสองเลย เนื่องจากคนมักเข้าใจผิดว่า การจะได้รับสารนิโคตินจากบุหรี่นอกจากจะเป็นผู้สูบแล้วจะต้องเป็นคนที่อยู่ต่อหน้าคนสูบแล้วสูดควันบุหรี่เข้าไป หรือควันบุหรี่มือสองเท่านั้น แต่ความจริงแล้วแม้ไม่ได้สัมผัสควันบุหรี่โดยตรงก็มีโอกาสได้รับสารนิโคติน เรียกว่า ควันบุหรี่มือสาม จากการที่ตกค้างอยู่ในที่ต่างๆ เช่น พรม ช่องแอร์ หรือผ้า แต่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ และไม่ระมัดระวังถึงเรื่องนี้ แม้จะมีการรณรงค์เพียงใดก็ยังไม่สามารถสร้างความตระหนักได้มากนัก
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา เคยมีการนำเสนอผลการศึกษาของอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เก็บเส้นผมของเด็กที่พ่อแม่ หรือสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่ไปตรวจร่วมกับนักวิชาการชั้นนำจากต่างประเทศ พบว่ามีสารนิโคติน ปนเปื้อนอยู่ ขณะที่โรงพยาบาลเด็ก เคยศึกษาผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ หรือโรคภูมิแพ้ พบว่ามีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ของสมาชิกที่บ้าน แสดงว่าอันตรายโดยรวมของควันบุหรี่มือสาม คือ ไม่ใช่การสูดควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย แต่เป็นการสัมผัสพื้นที่หรือสิ่งของที่เคยมีการสูบบุหรี่มาก่อน เช่น ม่านตามโรงแรม ผนังอิฐ ปูน หรือห้องน้ำสาธารณะตามผับ บาร์ หรือโซนที่อนุญาตให้สูบได้ ซึ่งถ้าใครเคยสังเกตโซนเหล่านี้จะมีกลิ่นบุหรี่มาก ข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าสถานที่ที่เปิดโอกาสให้คนสูบอย่างน้อย 4 ครั้งต่อวัน โอกาสที่ควันบุหรี่จะฝังในวัสดุ หรือสิ่งของต่างๆ ก็จะสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญด้วย
“ประเด็นที่น่าสนใจ คือ หากเป็นผู้ใหญ่ก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่กรณีเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียน หากเป็นที่สาธารณะ เป็นที่แน่นอนว่าพวกเขาสัมผัสได้ไม่นาน แต่กรณีเป็นที่บ้าน ที่พ่อแม่ หรือสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่ เด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลยทางที่ดีที่สุด ซึ่งหากได้รับควันบุหรี่มือสาม จะส่งผลให้ป่วยบ่อย หอบหืด เป็นภูมิแพ้ เป็นต้น”ทพ.ญ.ศิริวรรณ กล่าว