เปิดกรุตำรับ ยาไทยทดแทนเลิกใช้ ‘ซูโดอีเฟดรีน’
จารยา บุญมาก
จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกประกาศกระทรวงให้ยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โดยให้สถานพยาบาลและร้านขายยาที่ไม่มีใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองจัดส่งยาตำรับที่มีซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนผสมคืนให้กับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ภายในวันที่ 3 พ.ค.2555 รวมถึงออกประกาศฯ เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 พ.ศ.2555 ซึ่งมีโทษทั้งปรับและจำคุกนั้น
ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม ในฐานะตัวแทนวิชาชีพเภสัชกร กล่าวถึงปัญหานี้อย่างตรงไปตรงมา ว่า ประเด็นที่น่าสนใจขณะนี้ คือ ผู้บริโภคจะใช้ยาอะไรแทน ซูโดฯ หลังจากที่ถูกเพิ่มเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 2 และเป็นยาเสพติดให้โทษ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า ยาดังกล่าวสำคัญน้อยมาก ดังนั้นไม่มีก็ไม่เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นยาเดี่ยว หรือยาผสม
“แน่นอนว่า อาจมีกลุ่มแพทย์ กังวลว่า มีกลุ่มผู้ป่วยที่ติดยาซูโดฯ คือ กินแล้วดีขึ้นและไม่ได้รับยาก็ไม่หาย ส่วนนี้เชื่อว่า แพทย์ทราบดีว่า ซูโดฯ แค่บรรเทาอาการภูมิแพ้และลดอาการอักเสบเท่านั้น แต่สิ่งที่อยากให้ประชาชนเข้าใจ คือ ยาซูโดฯ เป็นแค่สินค้าเชิงธุรกิจผลิตเพื่อขาย หลายบริษัทจึงมักจะโฆษณาอยู่บ่อยๆ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องผูกติด เพราะหากบ้านเราไม่ใช้ บริษัทก็ผลิตขายไม่ได้ และอย่างแรกที่อยากให้ประชาชนเข้าใจ คือ หวัดนั้นสามารถหายได้โดยไม่ต้องพึ่งพายา หรือจะใช้ยาเฟนิลเอฟริ และยาสมุนไพรอย่างฟ้าทลายโจร แบบไทยก็ได้ เพราะประเทศใหญ่ อย่างสหรัฐอเมริกา ก็ไม่มีการใช้ยานี้แล้ว รวมทั้งกุมารแพทย์ในประเทศไทยเองก็แทบจะไม่ใช้ยาซูโดฯ เช่นกัน เนื่องจากพบว่าบางคนอาจแพ้” ผศ.ภญ.สำลี อธิบาย
ในระหว่างที่คดีลักลอบยาซูโดฯอยู่ระหว่างการสืบสวน สอบสวนต้นตอการทุจริต หลายคนเกิดคามกังวลว่า กระบวนการคุมเข้ม เพื่อตัดปัญหาการนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นของการผลิตยาเสพติด ผู้ป่วยหลายคนมักห่วงว่าจะไม่มียาใช้และกระทบต่อสุขภาพนั้น
นพ.ประภัสสร เจียมบุญศรี รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กล่าวเสริมว่า หากผู้ป่วยไข้หวัดรายใดไม่ต้องการพึ่งยา และยอมรับและเข้าใจการรักษาแทบทางเลือก สามารถดูแลตัวเองด้วยหลักการง่ายๆ อาทิ การลดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และไซนัสอักเสบ ด้วยศาสตร์การกดจุดที่จุดฝังเข็ม ในจุดต่างๆ ได้แก่ 1. จุดอิ้นถาง คือ ตำแหน่งที่อยู่ตรงจุดกึ่งกลางระหว่างหัวคิ้วทั้ง 2 ข้าง 2.จุดอิ๋งเซียง มี 2 ข้าง คือ การนวดพื้นที่อยู่ในร่องข้างจมูก ระดับเดียวกับกึ่งกลางปีกจมูก โดยใช้นิ้วหัวแม่มือกดตรงจุดฝังเข็มดังกล่าว นับ 1-5 วินาที แล้วปล่อย กดซ้ำอีก 3-5 ครั้ง สามารถทำได้บ่อยๆ หรือวันละ 3 เวลา เป็นอย่างน้อย
นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกในการบรรเทาอาการหวัดด้วย สมุนไพรบรรเทาหวัดคัดจมูก และแก้น้ำมูกไหลได้อย่างดี เริ่มต้นจาก 1.กระเทียม ควรปรุงอาหารด้วยกระเทียมจะช่วยลดอาการคัดจมูก หรือกินกระเทียมสดๆ ครั้งละ 7 กลีบ พร้อมมื้ออาหารทุกวัน
2. หอมเล็ก นำหอมเล็ก 1 หัว ปอกเปลือกกินพร้อมอาหารเป็นประจำทุกวัน จะช่วยป้องกันหวัดและบรรเทาอาหารคัดจมูกได้ หรือถ้ายังไม่หาย ใช้หอมเล็ก 4-5 หัว ทุบพอแตกต้มกับน้ำ 1 ลิตร รอเดือดยกลง เทน้ำในชามใบใหญ่ จึงก้มหน้าลงให้ห่างชามพอประมาณ ใช้ผ้าขนหนูคลุมศีรษะและชามไว้ สูดไอระเหยเข้าทางจมูกประมาณ 5-10 นาที จะรู้สึกโล่งจมูก นอกจากนี้ ยังใช้หอมเล็กต้มน้ำอาบแก้คัดจมูกได้เช่นกัน โดยนำหอมเล็ก 3 หัว ทุบพอแตก ใบมะขาม 1 กำมือ และเปลือกส้มโอประมาณครึ่งลูก ต้มกับน้ำ 3 ลิตร พอเดือดยกลง รอจนอุ่น จึงอาบแทนน้ำเปล่า ด้วยสรรพคุณทางยาของสมุนไพรเหล่านี้จึงช่วยบรรเทาหวัดและลดน้ำมูก
3.ขิง นำขิงแก่ 1 แง่ง หั่นเป็นแว่นบางๆ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร ประมาณ 5 นาที เสร็จแล้วตัก ขิงออก ดื่มขณะยังอุ่นๆ ครั้งละ 1 แก้ว ช่วงเช้า กลางวัน และเย็ย จะช่วยลดน้ำมูกได้ 4 ตะไคร้ ใช้ตะไคร้ 3-4 ต้น บุบให้แตก ต้มกับน้ำ 1 ลิตร จนเดือด ยกลง รินเฉพาะน้ำจิบบ่อยๆ ตลอดวัน ช่วยแก้อาการน้ำมูกไหลจากหวัดได้เช่นกัน
แต่หากต้องการรักษาตัวจากแพทย์แผนไทย ซึ่งขณะนี้มีกระจายอยู่ตามโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) บางส่วนแล้ว ประชาชนสามารถเข้ารับยาสมุนไพรที่ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่น ยาประสะเปราะใหญ่ที่ ใช้รักษาอาการหวัดในเด็ก หรือยาปราบชมพูทวีปที่ใช้รักษาหวัดในผู้ใหญ่ เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก และภูมิแพ้ ซึ่งในรายละเอียดแพทย์ที่สั่งจ่ายยาจะอธิบายให้ทราบ เพราะยาสมุนไพรตามบัญชียาหลักต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์แผนไทยฯ เท่านั้น