โดย..เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ
“แท็บเล็ตเทรนด์ของสังคมยุคปัจจุบัน ดูอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ อเมริกา ประเทศทางยุโรปก็ให้นักเรียนใช้แท็บเล็ตประกอบการเรียนการสอน แม้แต่ประเทศระวันดา ซึ่งประเทศยากจนแอฟริกา ก็ยังเริ่มจัดให้นักเรียนได้มีแท็บเล็ตใช้ในการเรียนการสอน”คำกล่าวของ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ในงานแถลงข่าวเรื่อง Content ที่จะบรรจุในแท็บเล็ตที่จะแจกนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 วานนี้ (3 เม.ย.) โดย ศ.ดร.สุชาติ และ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) โดยในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้นำตัวอย่างแท็บเล็ตที่บรรจุ Content ที่ได้รับการพัฒนาเรียบร้อย เพื่อใช้ในการเรียนการสอนของนักเรียนชั้น ป.1 โดยนำนักเรียนระดับชั้น ป.1 ของโรงเรียนราชวินิต ฝ่ายประถม และโรงเรียนวัดปรินายก พร้อมด้วยครูผู้ดูแลมาสาธิตให้ชม
ศ.ดร.สุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลไทยจะจัดซื้อเครื่องแท็บเล็ต โดยการลงนามในบันทึกข้อตกลงกับ บริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1,000,000 เครื่อง วงเงิน 2,400 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้กับนักเรียนชั้น ป.1 ทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงจัดสรรให้กับครู และกันไว้เป็นเครื่องสำรองเผื่อกรณีเครื่องเสียหายด้วย ทั้งนี้ มีงานวิจัยยืนยันชัดเจนว่า เครื่องแท็บเล็ตบวกกับครูที่ผ่านการอบรมมาอย่างดี จะเป็นเครื่องมือให้นักเรียนในประเทศนั้น เก่งและฉลาดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เพราะในแท็บเล็ตบรรจุองค์ความรู้ไว้ครบทุกวิชา แท็บเล็ตจึงเหมือนเป็นครูที่จะสอนเด็กได้ทุกเวลาและทุกวิชา ตามที่เด็กต้องการ ถือว่าเป็นการปฏิรูปการเรียนการสอนครั้งใหญ่
สำหรับหน้าตาของแท็บเล็ตที่บรรจุ Content ที่ สพฐ.ได้พัฒนาเรียบร้อยนั้นจะเน้นคอนเซ็ปต์ใช้ง่าย ไม่เกิน 2 คลิกก็เข้าถึงข้อมูล โดยบนหน้าจอ จะแบ่งเป็น3 ส่วนหลัก คือ ส่วนแรก เป็นบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง 5 กลุ่มสาระวิชา ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา และวิทยาศาสตร์ เพียงคลิกเข้าไปในแต่ละกลุ่มสาระวิชาก็จะพบว่า มีบทเรียนครบที่กำหนดไว้ให้เรียนในแต่ละคาบวิชาบรรจุไว้ ซึ่งทั้งหมดประมาณ 50 คาบเรียนในแต่ละภาคเรียน ส่วนที่ 2 เป็นเพลงช่วยจำ ส่วนนี้จะเป็นการดึงเพลงประกอบที่ใส่ไว้ในแต่ละกลุ่มสาระวิชา แยกออกมาเพื่อให้นักเรียน หรือผู้ปกครองเข้าถึงการใช้งานที่ง่ายขึ้น โดยจะมีแอนิเมชั่นประกอบเพลงแบบง่าย ๆ ซึ่งจะช่วยให้เด็กจำในเนื้อหาต่าง ๆ
และส่วนที่ 3 ประกอบด้วย 4 ไอคอนหลัก คือ ไอคอนแรกจะเป็นแอปพลิเคชันการอัดเสียง เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้ปกครอง นักเรียน และครู ไอคอนที่สอง จะเป็นข้อมูลของนักเรียนเพื่อติดตามเครื่องได้กรณีเครื่องสูญหาย ไอคอนที่สาม จะเป็นปฏิทินที่สามารถบันทึกกิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้ปกครองดูได้ และไอคอนสุดท้าย เป็นเมนูลัดสำหรับเข้าถึงแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ ที่จะใส่เพิ่มเติม รวมทั้งหมดแล้วจะใช้พื้นที่ความจำ จำนวน 4 กิ๊กกะไบต์ จากทั้งหมด 8 กิ๊กกะไบต์
ทั้งนี้ นายชินภัทร กล่าวว่า “แท็บเล็ตจะทำให้การจัดการเรียนการสอนแบบที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลางเห็นภาพชัดเจนขึ้น และเนื้อหาที่จะบรรจุในแท็บเล็ตนั้น จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ e-book ใน 5 กลุ่มสาระวิชา และมี learning object อีก 336 หน่วยการเรียนรู้ ขณะเดียวกันจะบรรจุดิกชันนารี สูตรคูณ บทสวดมนต์ และโปรแกรมแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่จำเป็นเพิ่มเติมเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนการอบรมครูนั้นจะดำเนินการในช่วงปิดภาคเรียน จะมีการอบรมศึกษานิเทศก์ จำนวน 549 คน และอบรมครู 54,900 คน ให้พร้อมสำหรับการใช้แท็บเล็ตประกอบการเรียนการสอน”
นี่เป็นเพียงก้าวแรก..ต้องมาลุ้นของจริงที่จะมาล็อตแรก 2,000 เครื่องที่จะมาหลังจากลงนามเป็นทางการ 15 วันว่าเครื่องที่บรรจุเนื้อหาสาระแล้วนั้น จะผ่านการทดสอบแบบเข้ม 100% หรือไม่